กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--เอ็นไอ.คอม
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมด้วย สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) และบมจ. กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เปิดตัวโครงการ Government Data Center and Cloud Servvice (GDCC) หรือระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ณ อาคารสโมสร ชั้น 2 บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หลักสี่ กรุงเทพฯ
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) ประธานเปิดโครงการ ฯ กล่าวว่า GDCC เป็นบริการใหม่ล่าสุดที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ซึ่งนอกจากจะตอบโจทย์ด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้ว GDCC ยังเป็นการพลิกวิธีการทำงานของหน่วยงานภาครัฐในการให้บริการประชาชนได้เป็นอย่างดี สามารถบูรณาการข้อมูลข้ามหน่วยงานได้ รวมถึงจัดเตรียมทรัพยากรและกระบวนการต่างๆ ให้พร้อมสำหรับการเข้าถึง เพราะที่ผ่านมาเรามีการผลักดันโครงการไอทีของภาครัฐออกมาอย่างต่อเนื่องแต่ก็ยังไม่ทันสมัยเท่าที่ควร วันนี้ขอให้มั่นใจว่า smart and open government ของไทยกำลังเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญหากทุกหน่วยงานจะช่วยกันขับเคลื่อน โดยมี 4 คำสำคัญที่เกี่ยวข้องและต้องทำให้เกิดการพัฒนาต่อไป ได้แก่ Big Data/ Data Center / cloud Service และ One Stop Service (OSS)
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงดีอี อยู่ระหว่างการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (Government Big Data institute) เพื่อรองรับการให้บริการด้านบุคลากรและการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐ (Big Data Analytics) และใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อประกอบการตัดสินใจ (Data Driven Decision) การดำเนินงาน (Insight to Operation) และการให้บริการประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประชาชนได้ตรงจุดมากขึ้น
ด้านนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า กระทรวงดีอีดำเนินโครงการ GDCC เพื่อพัฒนาให้เกิด Cloud Infrastructure ที่มีมาตรฐานและมีความปลอดภัยสูง สำหรับรองรับการบูรณาการข้อมูลสถิติและสารสนเทศภาครัฐ มีเป้าหมายเพื่อให้มีระบบกลางในการให้บริการ Cloud Service สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของบุคลากร ทำให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรคอมพิวเตอร์บนระบบคลาวด์ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐและยังช่วยลดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้โครงการ GDCC ยังใช้เทคโนโลยีแบบ Open source ที่ใช้อยู่ทั่วโลก ขณะเดียวกันในโครงการจะมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความสามารถด้าน Cloud computing จำนวนกว่า 2,500 คน และเพียงพอต่อการปรับเปลี่ยนไปสู่รัฐบาลดิจิทัล โดยผู้ที่ผ่านการรับรองสามารถนำความรู้ไปถ่ายทอด ประยุกต์ใช้งานต่อในหน่วยงานของตนเองและถ่ายทอดต่อให้กับบุคคลากรในหน่วยงาน โดยการดำเนินงานโครงการ GDCC มีกรอบงบประมาณต่อเนื่อง 3 ปี (พ.ศ. 2563-2565) และมอบหมายให้กระทรวงดีอี โดย สดช. เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบดำเนินงาน พร้อมทั้งให้ CAT ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีอำนาจหน้าที่และความพร้อมเป็นผู้ดำเนินการจัดทำ GDCC ปัจจุบันโครงการ GDCC มีความพร้อม โดยหน่วยงานนำร่องจะเริ่มให้บริการในช่วงปลายปีงบประมาณ 2562 นี้
ทั้งนี้ ภายในงาน "GDCC Cloud Day by MDES" ได้มีการจัดกิจกรรมบรรยายและเสวนาให้ความรู้ความเข้าใจโดยละเอียดเกี่ยวกับโครงการ GDCC และแนวทางการบูรณาการข้อมูลต่างๆ ในระดับปฏิบัติให้แก่เจ้าหน้าที่ไอทีจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ กว่า 400 คน ในหัวข้อ "Government Big Data Analytics Framework" หัวข้อ "สุมหัวคิดเรื่อง GDCC House Model" พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญจาก CAT สาธิตการโอนย้ายข้อมูล (Cloud Migration) ขึ้นสู่ระบบคลาวด์กลาง GDCC