กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
โดยทั่วไปแล้วนิ่วในถุงน้ำดีมักจะไม่ก่อให้เกิดอาการ ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง คล้ายอาการของโรคกระเพาะอาหารหรือโรคกรดไหลย้อน จึงทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง รู้ตัวอีกทีก้อนนิ่วหลุดไปอุดตันจนเกิดการอักเสบ เสี่ยงต่อการติดเชื้อในช่องท้องและอาจเสียชีวิตได้ ปัจจุบันการผ่าตัดผ่านกล้องในภาวะที่มีการอักเสบของถุงน้ำดี ไม่เพียงแผลมีขนาดเล็ก เจ็บน้อย ผู้ป่วยฟื้นตัวและกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เร็ว ยังจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้
นพ. ชนินทร์ ปั้นดี ศัลยแพทย์ด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ปกติแล้วภาวะนิ่วในถุงน้ำดีพบได้บ่อยถึง 10 – 15% โดยเฉพาะผู้หญิงวัย 40 ปีขึ้นไป หลายคนพบนิ่วในถุงน้ำดีเมื่อมาตรวจสุขภาพ บางคนมีญาติพี่น้องตรวจพบนิ่ว บ้างอยู่ในวัยทำงานไม่มีเวลาดูแลตนเองด้านอาหารการกินและสุขภาพ และยังเป็นโรคที่เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ช่วงแรกอาจมีอาการไม่มาก หากปล่อยทิ้งไว้จนเกิดการอุดตันอักเสบส่งผลให้ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน (Acute Cholecystitis)ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่พบได้ 20% ของผู้ป่วยที่เป็นนิ่วที่มีอาการแต่ไม่ได้รักษา สาเหตุของถุงน้ำดีอักเสบแบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลักๆ คือ 1) ถุงน้ำดีอักเสบจากนิ่ว เป็นสาเหตุของโรคถุงน้ำดีอักเสบที่พบมากถึง 95% อาจเกิดจากก้อนนิ่วในถุงน้ำดี (gallstone) หรือตะกอนของถุงน้ำดี (biliary sludge) ไปอุดตันทางออกถุงน้ำดี (cystic duct) จนทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบ ต่อมาอาจเกิดถุงน้ำดีเป็นหนอง ถุงน้ำดีขาดเลือดเกิดเนื้อตายเน่า ถุงน้ำดีแตกทะลุ ท่อน้ำดีติดเชื้อ หรือติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งร้ายแรงอาจถึงชีวิตได้ 2) ถุงน้ำดีอักเสบจากสาเหตุอื่น พบได้ประมาณ 5% เช่น ถุงน้ำดีได้รับอุบัติเหตุฉีกขาด ถุงน้ำดีหรือท่อน้ำดีเกิดเนื้องอก ท่อน้ำดีตีบตันจากพังผืด การทำงานที่ผิดปกติของถุงน้ำดีในผู้ป่วย ICU ผู้ป่วยสูงอายุที่มีเส้นเลือดเสื่อม ติดเชื้อ หรือได้รับอาหารทางเส้นเลือดนานๆ เป็นต้น
ผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน (Acute Cholecystitis) จะมาด้วยอาการปวดท้องรุนแรง จุกเสียดแน่นท้องบริเวณลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา โดยเฉพาะเวลาหายใจเข้าลึกๆ จะปวดมาก หากเป็นมากในบางรายอาจมีภาวะดีซ่าน ตัวเหลืองตาเหลืองปัสสาวะเหลืองเข้ม อุจจาระสีซีดเนื่องจากน้ำดีไหลลงลำไส้ไม่ได้จนย้อนเข้ากระแสเลือด หรือเมื่อถุงน้ำดีแตกทะลุ ผู้ป่วยจะมีไข้หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน กล้ามเนื้อหน้าท้องแข็งปวดบิดเกร็งเป็นพักๆ อาจมีปวดร้าวไปยังหัวไหล่ขวาหรือหลัง เจ็บทุกส่วนของช่องท้อง หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์อย่างเร่งด่วน แพทย์จะซักถามอาการ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และทำอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบนเพื่อวินิจฉัยแยกจากโรคอื่นที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องที่คล้ายกัน อาทิ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น ผู้ป่วยบางรายอาจมีนิ่วอุดตันในท่อน้ำดีหลักร่วมด้วย อาจจำเป็นต้องตรวจทางเดินน้ำดี (Magnetic Resonance Cholangiopancreatography : MRCP) ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพิ่มเติม
โดยทั่วไปถุงน้ำดีอักเสบเป็นโรคที่รักษาให้หายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ถ้าผู้ป่วยมีอาการภายใน 1 สัปดาห์แพทย์มักจะแนะนำทำการผ่าตัด แต่หากผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อน เกิดถุงน้ำดีอักเสบรุนแรง แพทย์จะให้ยาปฏิชีวินะหรือเจาะถุงน้ำดีใส่สายระบายการติดเชื้อ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ หากผู้ป่วยมีอาการมานานกว่า 1 สัปดาห์และมีการตอบสนองต่อยาดีจึงทำการผ่าตัดต่อไปใน 6-12 สัปดาห์ ถ้าผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาหรือมีการติดเชื้อในกระแสเลือดหรือถุงน้ำดีเป็นหนองและมีเนื้อตาย อาจต้องตัดสินใจผ่าตัดอย่างเร่งด่วน โดยวิธีการผ่าตัดถุงน้ำดีอาจทำได้โดย 1.การผ่าตัดถุงน้ำดีแบบเปิดหน้าท้อง (Open Cholecystectomy) เป็นวิธีผ่าตัดแบบดั้งเดิม ปัจจุบันแพทย์จะเลือกใช้ในกรณีที่ถุงน้ำดีมีอาการอักเสบมากหรือแตกทะลุ 2.การผ่าตัดถุงน้ำดีแบบผ่านกล้อง (Laparoscopic Cholecystectomy) โดยศัลยแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมมาเฉพาะและมีความชำนาญสูง เนื่องจากการผ่าตัดแบบผ่านกล้องในภาวะที่มีการอักเสบของถุงน้ำดีทำได้ยาก ปัจจุบันการผ่าตัดผ่านกล้องได้กลายเป็นวิธีผ่าตัดมาตรฐาน โดยแพทย์จะเจาะรูขนาดเล็กบริเวณหน้าท้องด้วยเครื่องมือ จากนั้นจึงใส่กล้องเข้าไปเลาะถุงน้ำดีให้หลุดออกจากตับ ตัดขั้วของถุงน้ำดี แล้วนำถุงน้ำดีที่ตัดใส่ถุงปลอดเชื้อออกมาทางสะดือ หลังผ่าตัดแผลมีขนาดเล็ก อาการปวดแผลน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเดิม ลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้ภายใน 4 - 6ชั่วโมงหลังผ่าตัด(ในผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรงก่อนผ่าตัด) ผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาลระยะสั้นเพียง1-2 วัน ฟื้นตัวเร็ว และกลับไปทำงานได้เร็วขึ้น
จุดเด่นการรักษาคือ การรักษาโดยทีมแพทย์ที่มีความชำนาญถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ ร่วมกับเทคนิคการผ่าตัดแผลเล็ก รวมถึงการนำเอาเทคโนโลยีผ่าตัดที่คมชัดสูงผ่านกล้องแบบ 3 มิติ(3D) หรือใช้กล้องชนิดที่ให้ความละเอียดของภาพในระดับ 4K เข้ามาใช้ช่วยให้แพทย์สามารถเห็นภาพถุงน้ำดีและอวัยวะต่างๆ ในมิติลึกได้ดียิ่งขึ้นส่งผลให้การผ่าตัดมีความแม่นยำมากขึ้น อีกทั้ง การผ่าตัดเลาะถุงน้ำดีออกจากตับต้องทำด้วยความระวัง เพื่อลดความเสี่ยงที่ถุงน้ำดีรั่วแตก หรือเลือดออกขณะผ่าตัด การตัดถุงน้ำดีที่มีอักเสบหรือผังผืดเกาะติดเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างยากและมีความเสี่ยงสูง อาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะใกล้เคียง เช่น ตับ ลำไส้ หรือท่อน้ำดี เกิดภาวะน้ำดีรั่วหลังผ่าตัด หรือท่อน้ำดีถูกผูก เป็นต้น บางครั้งแพทย์จะทำการฉีดสีเข้าท่อน้ำดีขณะผ่าตัด(Intraoperative Cholangiography) เพื่อดูกายวิภาคของทางเดินน้ำดีร่วมด้วย เพื่อลดโอกาสเกิดการบาดเจ็บต่อท่อน้ำดี นอกจากนี้ การนำถุงน้ำดีที่ตัดออกผ่านถุงปลอดเชื้อ ช่วยลดโอกาสติดเชื้ออีกด้วย โดยตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการรักษา ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลโดยทีมแพทย์สหสาขา (multidisciplinary team) อาทิ รังสีแพทย์ ศัลยแพทย์ผ่าตัดผ่านกล้อง แพทย์เฉพาะทางด้านการระงับอาการปวด ทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัด พยาบาลเฉพาะทาง นักโภชนาการ เภสัชกร ที่พร้อมให้การรักษาในภาวะเร่งด่วนตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ มีการเก็บสถิติข้อมูลจากผู้เข้ารับการผ่าตัดผ่านกล้องนิ่วในถุงน้ำดีเมื่อปีพ.ศ. 2561 พบว่า 93% ของคนไข้สามารถผ่าตัดผ่านกล้องได้สำเร็จแม้ในรายที่มีการอักเสบเฉียบพลันก็ตาม อัตราการบาดเจ็บที่ท่อน้ำดีหลัก และการติดเชื้อหลังผ่าตัด (ในรายที่ไม่มีการอักเสบเฉียบพลัน) เท่ากับ 0% เช่นกัน
ทั้งนี้ ก่อนผ่าตัดผู้ป่วยควรนำรายการยาทั้งหมดที่ทานอยู่แจ้งให้แพทย์ทราบ อาจต้องมีการปรับการใช้ยาบางชนิด อาทิ ยาป้องกันการเกาะกลุ่มกันของเกร็ดเลือด ยาป้องกันลิ่มเลือดอุดตัน หรือยาแก้ปวดที่ไม่ใช้สเตียรอยด์ เป็นต้น หลังการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่ในผู้ป่วยส่วนน้อยระบบย่อยอาหารทำงานเปลี่ยนแปลงไปเมื่อรับประทานอาหารที่มีไขมันมากๆ เพราะปริมาณน้ำดีจะไม่เพียงพอ เนื่องจากไม่มีที่พักเก็บน้ำดีแล้ว อาจมีอาการท้องอืดแน่นท้อง หรือท้องเสียได้ ซึ่งอาการมักจะดีขึ้นหลังผ่าตัด 2-3 เดือนแรก การเพิ่มใยอาหารจะช่วยบรรเทาอาการท้องเสียได้ เน้นทานผักและปลา เพิ่มจำนวนมื้อ แต่ลดปริมาณในแต่ละมื้อลง นอกจากนี้ การเข้ารับคำแนะนำจากทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟูจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว กลับไปทำงานหรือ ออกกำลังกายได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย
ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันไม่สามารถป้องกันได้ แต่เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดี ด้วยการลดการทานอาหารมัน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการโหมลดน้ำหนักมากๆ เลี่ยงการใช้ยากลุ่มฮอร์โมน ทำการตรวจสุขภาพประจำปีและหมั่นสังเกตตัวเอง หากมีอาการจุกแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องอืดง่ายหลังทานอาหารมันๆ ควรเข้ารับการตรวจรักษากับแพทย์ก่อนที่จะเกิดการอักเสบจนติดเชื้อรุนแรง ที่สำคัญการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อรักษาถุงน้ำดีอักเสบ ควรได้รับการดูแลโดยแพทย์ที่มีประสบการณ์และทีมสหสาขาวิชาชีพ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยเร็ว