กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
วันอังคารที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๒ เวลา ๐๘.๐๐ น. ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นประธานเปิดงานกิจกรรมสร้างสรรค์ศิลปะบนนาข้าว โครงการผืนดินพระราชทานเพื่อการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พร้อมด้วย นายรัตนะ สวามีชัย รองเลขาธิการ ส.ป.ก. , พันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย รองเลขาธิการ ส.ป.ก. นายเจริญชัย พรรณาภพ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม นางสาววรรณพร ดอกจำปา ผู้ตรวจราชการกรม นางสาวกรุณา นิยมไทย ปฏิรูปที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนางศุลีพร เวชวิฐาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง ผู้อำนวยการสำนัก/กอง/ศูนย์ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ณ แปลงที่ดินพระราชทาน โฉนดเลขที่ ๑ ตำบลวังยม อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โอกาสนี้ ส.ป.ก.ได้รับเกียรติจากหน่วยงาน/ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมกิจกรรม อาทิ พันเอกเฉลิมเกียรติ ลาดมะโรง จากมณฑลทหารบกที่ ๑๘ ค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี นายพฤทธิพงศ์ ทัศน์อัญชุลีกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา นายประกาศ ชูศักดิ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งท่อก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ ๕ (ปตท.) นายวิชัย ไวยทิ นายกเทศมนตรีเทศบาลตลาดเกรียบ นายปรีชา ไวยมัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวัดยม นายสุเมธ เหล่าโมราพร จากบริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด และนางสาวนฤชล ดำรงปิยวุฒิ จากบริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)
นอกจากนี้ ส.ป.ก.ยังได้จัดกิจกรรมร่วมกันปลูกพันธุ์ไม้มงคล ได้แก่ ต้นรวงผึ้ง (ซึ่งเป็นไม้มงคลประจำรัชกาลที่ ๑๐) ต้นราชพฤกษ์ ต้นแก้วเจ้าจอม และต้นมะขาม ณ บริเวณสวนหย่อมด้านหน้าพื้นที่แปลงโฉนดหมายเลข ๑ จากนั้น
ผู้บริหาร ส.ป.ก. ผู้แทนหน่วยงาน/ส่วนราชการ แขกผู้มีเกียรติ และเกษตรกรร่วมกันลงแปลงดำนา เพื่อสร้างสรรค์ศิลปะ บนนาข้าว ด้วยพันธุ์ข้าวหลากหลายสายพันธุ์ บรรจงรังสรรเป็นภาพต่าง ๆ บนนาข้าว เมื่อข้าวออกรวงจะเกิดเป็นลวดลายสีสันสวยงามภายในแปลงนาแห่งนี้ รวม ๔ แปลง คือ แปลงที่ ๑ สัญลักษณ์เลข ๑๐ สืบสาน รักษา ต่อยอด และข้อความว่า "ทรงพระเจริญ" แปลงที่ ๒ ภาพวาดฝีพระหัตถ์ จิตอาสา "เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ" แปลงที่ ๓ ภาพพระพิรุณทรงนาค (สื่อถึงสัญลักษณ์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) และแปลงที่ ๔ รูปพญานาค (สื่อถึงน้ำท่าและความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินพระราชทานแห่งนี้)
สำหรับ โฉนดที่ดินฉบับแรกของประเทศไทย เกิดขึ้น ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๕) ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคมาประทับพักผ่อนพระอิริยบท ณ พระราชวังบางปะอิน ได้ทอดพระเนตรที่ดินอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยต้นข้าวเขียวขจีทั้งท้องทุ่ง จึงมีพระราชดำริว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้ อุดมสมบูรณ์เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ สมควรจะได้ออกโฉนดที่ดินบำรุงท้องที่ ให้แก่เจ้าของที่นายึดถือใว้ โดยมีวัตถุประสงค์ในการเก็บภาษีอากร คือ ค่าภาษีบำรุงท้องที่หรือที่เรียกว่า ภาษีที่ดิน จึงได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาประชาชีพบริบาล(ผึ่ง ชูโต) ซึ่งขณะนั้นรับราชการสังกัดอยู่ในกระทรวงยุติธรรม มาเป็นข้าหลวงเกษตรพร้อมด้วยเจ้าพนักงานกรมแผนที่ ออกทำการเดินสำรวจรังวัดปักหลักเขตเพื่อออกโฉนดที่ดินตามระบบ ที่ใช้อยู่ในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเรียกว่า ระบบทอเร้นท์(Torrent System) โดยได้ให้ดำเนินการที่ตำบลวัดยม และตำบลบ้านแป้ง อำเภอบางปะอิน ก่อนเป็นอันดับแรก ตามประกาศเรื่อง ออกโฉนดที่ดินมณฑลกรุงเก่า ลงวันที่ ๓ พฤษภาคม ร.ศ.๑๒๐(พศ.๒๔๔๔) พระยาประชาชีพบริบาล ได้ยกกองไปตั้งทำการอยู่ที่หอสภาคารราชประยูร ในพระราชวังบางปะอิน โดยได้ลงมือทำการเดินสำรวจออกโฉนด เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ร.ศ.๑๒๐(๒๔๔๔) จนถึงวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ร.ศ.๑๒๐(๒๔๔๔) ได้สร้างโฉนดฉบับหลวงและโฉนดฉบับเจ้าของที่ดินได้มากพอสมควร พร้อมที่จะแจกให้แก่เจ้าของที่ดินได้ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสำนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยาขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ร.ศ.๑๒๐(พ.ศ.๒๔๔๔) เรียกชื่อว่า "หอทะเบียนเมืองกรุงเก่า" และเมื่อได้ทรงทราบว่า การออกโฉนดที่ดินได้สำเร็จลุล่วงตามพระราชประสงค์ จึงได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ทรงประกอบพระราชพิธีพระราชทานโฉนดที่ดินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ร.ศ.๑๒๐(๒๔๔๔) โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๕) ได้เสด็จออก ณ พระที่นั่งวโรภาศพิมาน ในพระราชวังบางปะอิน พร้อมด้วย เสนาบดีและข้าราชการกระทรวงเกษตราธิการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เจ้าพระยาเทเวศวงศ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ได้นำโฉนดที่ดินสำหรับที่หลวงขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายโฉนดฉบับนี้ และได้ทรงลงพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บนตราประจำรัชกาล ที่ท่อนบนของโฉนด จึงเป็นโฉนดที่ดินฉบับแรกของประเทศไทย คือ โฉนดเลขที่ ๑ สาระบาญเล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑ ที่ดินระวาง ๑๗ต๓อ, เลข ๑๑๗ ตำบลบ้านแป้ง อำเภอพระราชวัง โดยเอกสารโฉนดที่ดินฉบับนี้ ออกเมื่อ วันที่ ๑ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๐ (พ.ศ. ๒๔๔๔) เนื้อที่ ๘๙ ไร่ ๑ งาน ๕๒ ตารางวา ตั้งอยู่ที่บ้านวัดยม ตำบลบ้านแป้ง อำเภอพระราชวัง (บางปะอิน) แขวงเมืองกรุงเก่า (ปัจจุบันเป็นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นแปลงที่ดินหนึ่งในจำนวน ผืนดินพระราชทานทั้งหมด ๔๔,๓๖๙ ไร่ ๒ งาน ๗๙ ตารางวา ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ได้พระราชทานแก่รัฐบาล โดยให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นำมาดำเนินการปฏิรูปที่ดิน อันเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปที่ดินในประเทศไทย ปัจจุบันแปลงโฉนดที่ดินฉบับแรกของประเทศไทย ส.ป.ก.ได้จัดให้กับเกษตรกรเช่าทำประโยชน์ จำนวน ๑๑ แปลง ๙ ราย ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา