กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--กปส.
ยกเครื่องปรับแนวการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกทม. ใหม่ เน้นการบูรณาการของผู้ตรวจฯ ทุกระดับ เข้าถึงนโยบาย 6 มิติ หารือเดือนละ 1 ครั้งให้ผู้บริหารทราบผลการตรวจ แลกเปลี่ยน ซักถามประเด็นข้อสงสัย แนะเข้าประชุมกลุ่มเขต เสนอข้อคิดเห็น รวมถึงการตรวจพื้นที่หรือตรวจโครงการที่กรุงเทพมหานครดำเนินการต่างๆ อีกทั้งดูแล ทุกข์ สุข ของข้าราชการ ลูกจ้างที่ทำงานตามพื้นที่
6 ก.พ. 51 / ศาลาว่าการกทม. : นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมร่วมกับผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร ในประเด็นแนวทางการตรวจราชการและทิศทางการทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองสวรรค์ทั้ง 6 มิติ โดยมีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารระดับสูง และผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร ระดับ 8-9 ร่วมประชุม
สำหรับการประชุมในครั้งนี้เพื่อปรับปรุงแนวทางการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับแนวนโยบายผู้บริหารใน 6 มิติ ในรูปแบบการตรวจตามหน้าที่ การตรวจตามข้อร้องเรียน การตรวจสอบสวน และการตรวจตามนโยบายหรือโครงการที่แตกออกจากนโยบายหลัก โดยการทำงานของผู้ตรวจฯ ต่อจากนี้จะเป็นการทำงานเป็นทีม ตั้งแต่ระดับ 10, 9 และ 8 และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติติดตามงาน ซึ่งผลจากการตรวจราชการจะพิจารณาเรื่องนโยบายได้รับการปฏิบัติ ผลที่ได้ และการตอบสนองของประชาชน โดยในแต่ละทีมจะนำผลการตรวจมารวบรวมเดือนละ 1 ครั้ง และบูรณาการพร้อมแยกเป็นหมวดหมู่รายงานผู้บริหาร ในการประชุมใหญ่ที่จะจัดขึ้นทุก 3 เดือน ซึ่งในรอบ 1 ปีจะมีการประชุมใหญ่ของผู้ตรวจราชการ จำนวน 4 ครั้ง
ในการนี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เสนอแนะให้คณะผู้ตรวจราชการประสานโครงการตามนโยบายกับสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล เพื่อรวบรวมโครงการต่างๆ แล้วนำมาจัดเป็นหมวดหมู่ พร้อมจัดลำดับความสำคัญ เพื่อให้การประเมินผลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สะดวกสำหรับการติดตามประเมินผลนโยบาย และเป็นรูปแบบการติดตามในทุกระดับ ทั้งระดับการประชุมคณะผู้บริหารทุกวันอังคาร ระดับการประชุมหัวหน้าหน่วยงานทุกเดือน นอกจากนั้นอาจจะประสานเรื่องร้องเรียนจากสายด่วนกทม. 1555 เพื่อนำมาจัดหมวดหมู่และตรวจติดตามผลการแก้ไข เพื่อรายงานผลได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้มีการประชุมหารือเดือนละ 1 ครั้งเพื่อเสนอให้คณะผู้บริหารทราบผลการตรวจ เกิดการแลกเปลี่ยน ซักถามประเด็นข้อสงสัย และให้ผู้ตรวจราชการมีส่วนร่วมในการประชุมระดับกลุ่มเขต หรือการประชุมเชิงนโยบาย รวมถึงการตรวจพื้นที่หรือตรวจโครงการที่กรุงเทพมหานครดำเนินการต่างๆ เพื่อเสนอข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานด้วยการพัฒนาบุคลากร การปรับโครงสร้าง การปรับตำแหน่งให้เกิดความเหมาะสม การอำนวยวัสดุ อุปกรณ์ เช่น รถยนต์ บุคลากรให้เพียงพอ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากการตรวจราชการตามปกติแล้ว ผู้ตรวจต้องเข้าไปดูแล ทุกข์ สุขของข้าราชการ ลูกจ้างที่อยู่ตามพื้นที่ การดูแลชีวิตความเป็นอยู่ การรับฟังความคิดเห็น เสียงสะท้อนต่างๆ เพื่อแสดงถึงความใกล้ชิด เอาใจใส่ ให้ครอบคลุมถึงการบริหารทรัพยากรบุคคลด้วย