กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย
สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยชวนคนรุ่นใหม่มาไขโจทย์ด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่าน "Dutch Water Bootcamp" กิจกรรมท้าทายความสามารถภายใต้หัวข้อ "การจัดการข้อมูลด้านน้ำสำหรับในภาวะวิกฤต" ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในไทยกับกิจกรรมที่นำเอาโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำแบบ Dutch Risk Reduction ของเนเธอร์แลนด์มาใช้กับ big data เรื่องน้ำจากภาครัฐของไทย เพื่อให้เกิดแนวทางการแก้ปัญหาที่นำไปประยุกต์ใช้ได้ในสถานการณ์จริง
งานนี้จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (สศส.) และดูเรียนคอร์ป ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากการเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการน้ำในไทยที่มีการเก็บข้อมูลด้านน้ำ ภูมิอากาศ ภูมิสารสนเทศ อยู่แล้ว แต่ยังขาดช่องทางในการนำข้อมูลนั้นมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น จึงเปิดรับผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรมที่ทำงานหรือมีความสนใจในด้านนี้มาเข้าร่วมระดมไอเดียที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มี
จากจำนวนผู้สมัครทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ผ่านการคัดเลือกเหลือ 30 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา โดยทั้ง 30 คนได้รับความรู้จากการบรรยายของวิทยากรจาก สทนช. ที่อธิบายให้เข้าใจว่าปัญหาในด้านการบริหารจัดการน้ำของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ใด พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการข้อมูลทางด้านนี้ ร่วมด้วยวิทยากรจากฝั่งเนเธอร์แลนด์อย่าง Arcadis ที่เชี่ยวชาญในด้านการวางผังเมือง ซึ่งถ่ายทอดวิธีการทำงานและการจัดการด้านผังเมืองที่เริ่มต้นจากการวางผังน้ำก่อน เพื่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สัมพันธ์กับผังเมือง และวิทยากรจาก Carthago บริษัทเอกชนที่มีความถนัดในการนำทักษะ serious gaming มาใช้ในเรื่องการจัดการน้ำ
นอกจากการบรรยายความรู้จากวิทยากรที่มีประสบการณ์แล้ว ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังได้เดินทางไปดูงานที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ก่อนจะเดินทางมาที่สถานทูตเนเธอร์แลนด์ เพื่อนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ทั้งจากวิทยากรและการดูงานมาคิดและนำเสนอไอเดียของตัวเองคนละ 1 นาที ก่อนจะแบ่งออกเป็นกลุ่มโดยอิงจากไอเดียที่นำเสนอของแต่ละคน และนำแนวคิดทั้งหมดมาปรับเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาตามโจทย์ของ Dutch Water Bootcamp
โดยไอเดียที่ชนะ พร้อมคว้าเงินรางวัลกว่า 10,000 บาทไปครองเป็นของทีม "บ้านนี้มีน้ำ" ที่ประกอบด้วย พิณ อุดมเจริญชัยกิจ, มิ่งขวัญ นันทวิสัย, อรกมล นิละนนท์, มณฑล เมธาประยูร, ปริญญา อินทรเจริญ และ ภัทร สุขทวี ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของภูมิสถาปนิก วิศวกร ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ และผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยา ที่มาพร้อมกับแนวคิดในการใช้ Google Maps เพื่อจัดการและประเมินข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำของแต่ละครัวเรือน
ทีมบ้านนี้มีน้ำได้ไอเดียมาจากเกม SimCity ที่ทำให้ทั้งภาพรวมและภาพย่อยของแต่ละบ้าน และใช้รูปแบบการเก็บข้อมูลในเว็บไซต์ที่เชื่อมโยงกับแอปพลิเคชัน ซึ่งสามารถกรอกข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ทำการเกษตร ความถี่ในการทำการเกษตร และปริมาณแหล่งน้ำในพื้นที่ ซึ่งเมื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลเข้าด้วยกันกับ big data จากภาครัฐ จะทำให้ครัวเรือนสามารถวางแผนการเก็บน้ำได้ ลดปัญหาการซื้อน้ำในราคาแพงช่วงฤดูแล้ง ซึ่งหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คณะกรรมการตัดสินมอบรางวัลชนะเลิศให้กับทีมนี้ เพราะมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาต่อยอดเพื่อนำมาใช้จริง และยังเป็นการแปลงข้อมูลสาธารณะที่หน่วยงานภาครัฐมีอยู่แล้วให้เข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย เหมาะกับการใช้งานในระดับครัวเรือน รวมถึงเป็นแนวคิดในการแก้ปัญหาที่มีผลกระทบต่อประชากรในวงกว้างอีกด้วย
งาน Dutch Water Bootcamp นี้ เป็นส่วนหนึ่งของ Dutch Sustainability Days ที่สถานทูตเนเธอร์แลนด์ฯ จัดขึ้นเมื่อเดือนเมษยายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยรายละเอียดเกี่ยวกับแนวคิดที่ชนะกิจกรรมนี้ สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ www.dutchsustainabilitydays.com