กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
สำนักงาน ป.ป.ช. จัดโครงการสัมมนาเผยแพร่แนวทางการกำหนดมาตรการสำหรับนิติบุคคลในการป้องกันการให้สินบน เรื่อง "มาตรการที่มีประสิทธิภาพสำหรับภาคธุรกิจเอกชนในการต่อต้านการให้สินบน" ในวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2562 เวลา 08.30 -16.30 น. ณ โรงแรมดีวาน่า พลาซ่า ภูเก็ต ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต
ภายในงาน ได้รับเกียรติจาก นายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวต้อนรับ
และ พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และต่อด้วยการอภิปราย ในหัวข้อ "กฎหมาย ป.ป.ช. และแนวปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการให้สินบน : รู้ไว้ก่อนสาย" โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นายพนา รัตนบรรณางกูร ผู้อำนวยการโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทย ในการต่อต้านการทุจริต (CAC) นายอัครกิตติ์ กีรติธนาไชยยศ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและแผนและการต่างประเทศ สำนักงาน ป.ป.ช. และนางสาวพัสสา วโรตมะวิชญ พนักงานไต่สวนระดับกลาง สำนักงาน ป.ป.ช.
ส่วนในภาคบ่ายเป็นการนำเสนออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต และการ
นำเสนอเครื่องมือ E-learning เรื่องการต่อต้านการทุจริตของภาคเอกชน โดย Mr. Francesco Checchi ที่ปรึกษาระดับภูมิภาคด้านการต่อต้านการทุจริต สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC)
และการอภิปราย หัวข้อ "มาตรการป้องกันสินบนที่เหมาะสม : ทำไว้ก่อนสาย" (ตัวอย่างแนวปฏิบัติของบริษัทเอกชน) โดย นางสาวรัตนาวดี เกียรติซิมกุล ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาองค์กร บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) และผู้แทนภาคเอกชนจากต่างประเทศ (TBC)
สำหรับการจัดโครงการสัมมนาเผยแพร่แนวทางการกำหนดมาตรการสำหรับนิติบุคคลในการป้องกัน
การให้สินบน เรื่อง "มาตรการที่มีประสิทธิภาพสำหรับภาคธุรกิจเอกชนในการต่อต้านการให้สินบน" นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับนิติบุคคล โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอกชน เกี่ยวกับกฎหมายและมาตรการป้องกันสินบนที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับกฎหมายและมาตรการป้องกันสินบนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย และแนวปฏิบัติให้ทันสมัย สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และสร้างความตื่นตัวให้ภาคธุรกิจเอกชนในพื้นที่ในการจัดทำมาตรการป้องกันการให้สินบน สอดคล้องกับแนวทางของสำนักงาน ป.ป.ช. และมาตรฐานสากล
การดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการต่อต้านสินบน มีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้
1. ได้มีการออกประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมสำหรับนิติบุคคลในการป้องกันการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐฯ ลงในราชกิจจานุเบกษา
2. จัดทำคู่มือแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมสำหรับนิติบุคคลในการป้องกันการให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐ โดยได้มีการตีพิมพ์เป็นรูปเล่มทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ จีน และญี่ปุ่น รวมทั้งจัดทำวิดีโออินโฟกราฟฟิค โดยมีข้อมูลให้ดาวน์โหลดในเว็บไซต์ของสำนักงาน ป.ป.ช.
3.จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาสำหรับนิติบุคคลเพื่อป้องกันการให้สินบน (Anti-Bribery Advisory Service : ABAS) ภายใต้สำนักสำนักกิจการและคดีทุจริตระหว่างประเทศ เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลและแนวปฏิบัติที่ดีตามมาตรฐานสากล และให้คำปรึกษาเชิงวิชาการแก่ผู้ที่สนใจ และได้จัดทำเว็บไซต์เพื่อเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารและเผยแพร่ข้อมูลให้กับผู้ที่สนใจได้อย่างกว้างขวางและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น www.nacc.go.th/abas
4. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 รับทราบการดำเนินงานของสำนักงาน ป.ป.ช. และให้ทุกหน่วยงานภาครัฐนำคู่มือฯ ไปเผยแพร่และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงาน ก.ล.ต. ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. ศึกษาข้อมูลเพื่อพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการต่อต้านการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ
5. เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้จัดงานประกาศเจตนารมณ์ภาครัฐและเอกชนในการต่อต้านการให้สินบน โดยได้รับเกียรติจากนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์และเป็นผู้นำกิจกรรมประกาศเจตนารมณ์ โดยในงานดังกล่าวได้มีการเปิดตัวคู่มือแนวทางการกำหนดมาตรการฯ รวมทั้งศูนย์ให้คำปรึกษาสำหรับนิติบุคคลฯ
6. ได้ดำเนินการร่วมกับสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวให้เข้าถึงภาคธุรกิจเอกชน
7. มีการประชาสัมพันธ์และบรรยายให้ความรู้อย่างต่อเนื่องแก่ภาคธุรกิจเอกชน เช่น บริษัทที่จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ สมาคมธนาคาร โดยในปี 2560 ได้ขยายไปสู่ระดับภูมิภาค โดยได้เริ่มจัดโครงการแรก ที่จังหวัดเชียงใหม่ และโครงการต่อมาได้จัดเป็นการสัมมนาระดับภูมิภาคร่วมกับสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) UNODC และ ABA ณ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและภาคธุรกิจเอกชน รวมทั้งผู้แทนจากกลุ่มประเทศอาเซียน