กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--ศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ ชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ
ศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ ชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ (ศอช.) หน่วยงานภายใต้สังกัดกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการตามยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม ศึกษาวิจัย "โครงการการพัฒนารูปแบบการจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลในชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง : The development of wastewater and excreta management models in ethnic communities in highland areas" มีเป้าหมายที่จะศึกษาสถานการณ์ และพัฒนารูปแบบการจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล รวมถึงสร้างปัจจัยปกป้อง (protective factors) ทางสุขภาพให้กับกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ระหว่างปี 2562 -2563 โดยใช้บ้านหัวแม่คำ ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ศึกษาวิจัย ล่าสุดทีมงานวิจัยฯ นำโดยนางรุ่งรัศมี ศรีวงศ์พันธ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการฯ จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ดร.ณาณสินี สุมา และ ดร.ประดับดวง เกียรติศักดิ์ศิริ ได้ลงพื้นที่ศึกษาบริบทวิถีชีวิต ซึ่งเป็นอารยธรรมของชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ (อาข่า ลีซู ลาหู่ และจีนฮ่อ) ต้นน้ำคำ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำและเป็นต้นน้ำประปาภูเขา รวมถึงสภาพปัญหาน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลที่เกิดขึ้น ณ บ้านหัวแม่คำ ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
นางรุ่งรัศมี ศรีวงศ์พันธ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า การดำเนินงานในโครงการการพัฒนารูปแบบการจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลในชุมชนบนพื้นที่สูง ณ บ้านหัวแม่คำ จังหวัดเชียงราย ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมิถุนายนนี้ มีแผนจะลงพื้นที่ เพื่อศึกษาหาคำตอบในเรื่องรูปแบบการจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลที่จะเอื้อต่อการสร้างสุขภาพที่ดีของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนวิเคราะห์ร่วมกันในประเด็นภารกิจและบทบาทของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างความเข้าใจถึงความคาดหวัง ความต้องการ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เป็นรากฐานที่สำคัญต่อการขยายผลเชิงบวกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการพัฒนาในอนาคต เพื่อสุขภาพของคนไทยกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มที่เราไม่อาจทิ้งไว้ข้างหลัง
จากข้อมูลสถานการณ์สภาวะสุขภาพของประชาชนบนพื้นที่สูง ปี 2556 พบว่า ชุมชนชาวไทยภูเขามีแหล่งน้ำดื่มหลักคือ ประปาภูเขา ซึ่งหากมีการปนเปื้อนสารมลพิษจากแหล่งน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำบริโภคจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการบริหารจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม อย่างไรก็ดี โครงการการพัฒนารูปแบบการจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลในชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง : The development of wastewater and excreta management models in ethnic communities in highland areas เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) เป้าหมายที่ 6 ว่าด้วยเรื่องน้ำและการสุขาภิบาล ได้รับการจัดการอย่างยั่งยืนและมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคน สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์น้ำชาติด้านการจัดการคุณภาพน้ำ เพื่อประชาชนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี