กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
มกอช.ตอกย้ำบทบาท ด้านสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศ สร้างความเชื่อมั่นและยอมรับสินค้าเกษตรไทย ดันยอดส่งออกปี 61 ฉลุยทะลุ 1.1 ล้านล้าน ล่าสุดประกาศใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรแล้ว 314 ฉบับ พร้อมเร่งเดินหน้าจัดทำมาตรฐานอาเซียนสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค
ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าภาคการเกษตรในลำดับต้นของโลก โดยปริมาณสินค้าภาคการเกษตรที่ประเทศไทยส่งออกในปี 2561 มีมูลค่า 1,103,336 ล้านบาท เนื่องจากสินค้าภาคการเกษตรและอาหารของประเทศไทยเป็นสินค้าที่มีความหลากหลาย และสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดและผู้บริโภคได้ในทุกระดับ แม้ประเทศผู้นำเข้าจะกำหนดมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้นในการนำเข้าสินค้าที่ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย แต่ด้วยการนำมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ได้มาตรฐานสากลของไทย ไปใช้ในการผลิตและการตรวจสอบรับรองระบบการผลิตสินค้าภาคการเกษตร โดยการบูรณาการร่วมกับกรมต่างๆของกระทรวงเกษตรฯ ตาม พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 เพื่อควบคุม กำกับ ดูแลความปลอดภัยอาหารอย่างเบ็ดเสร็จตลอดห่วงโซ่อาหารตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ (Food chain) เพื่อให้ได้สินค้าที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทยได้รับการยอมรับและมียอดส่งออกไปตลาดโลกขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
ดร.จูอะดี กล่าวด้วยว่าที่ผ่านมา มกอช.มีบทบาทสำคัญในการเป็นหน่วยงานกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศ (National Standardization Body: NSB) เพื่อให้มาตรฐานที่กำหนดขึ้นมีความเหมาะสม ปลอดภัยต่อผู้บริโภค อยู่ในเกณฑ์ที่เกษตรกร/ผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติได้ รวมทั้งมีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ส่งผลให้ปัจจุบันมีการประกาศใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรแล้ว 314 ฉบับ และมกอช. ได้ร่วมกำหนดมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศกับองค์การมาตรฐานระหว่างประเทศ CODEX มาอย่างต่อเนื่องสร้างความสำเร็จมากในคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยในระดับสากล และยังมีบทบาทสำคัญในการร่วมจัดทำมาตรฐานอาเซียน เพื่อให้มีความเหมาะสมและอยู่ในเกณฑ์ที่เกษตรกร/ผู้ประกอบการ สามารถปฏิบัติได้ เช่น มาตรฐาน "ASEAN GAP" "เกษตรอินทรีย์อาเซียน" ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการค้าสินค้าเกษตรระหว่างอาเซียน
นอกจากนี้ อีกบทบาทที่สำคัญของ มกอช.คือการ เป็นหน่วยรับรองระบบงาน (Accreditation Body: AB) ด้านเกษตรและอาหาร ทำหน้าที่ตรวจประเมินเพื่อรับรองความสามารถแก่หน่วยรับรอง (Certification Body: CB) และหน่วยตรวจ ( Inspection Body: IB) ด้านสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อให้ CB/ IB ที่ผ่านการรับรองความสามารถจาก มกอช.มีความพร้อมในการทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองสินค้าเกษตรและอาหารแทนหน่วยตรวจสอบรับรองภาครัฐ เป็นการสนับสนุนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่องการถ่ายโอนภารกิจการตรวจสอบรับรองภาครัฐไปยังหน่วยตรวจสอบรับรองภาคเอกชน ซึ่งจะทำให้ผลการตรวจสอบเป็นที่เชื่อถือยอมรับตามแนวทางสากล เนื่องจาก มกอช.เป็นหน่วยรับรองระบบงาน (AB) ที่ ได้รับการยอมรับความสามารถจากองค์กรภูมิภาคแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองระบบงาน(PAC) และองค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองระบบงาน (IAF) ส่งผลให้ใบรับรองที่ออกโดย CB/IB ที่ได้รับการยอมรับความสามารถจาก มกอช. มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับในประเทศสมาชิกของ PAC/IAF และประเทศคู่ค้าตามหลักการสากล สามารถส่งออกสินค้าไปยังประเทศสมาชิกและประเทศคู่ค้าโดยมิต้องมีการตรวจซ้ำ ณ ปลายทาง
ล่าสุด มกอช.ได้รับการยอมรับความสามารถด้านการรับรองระบบงาน ภายใต้ กฎหมายความปลอดภัยอาหารฉบับปรับปรุงใหม่ Food Safety Modernization Act (FSMA) จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USFDA) ส่งผลให้หน่วยรับรอง (Certification Body: CB) ที่ผ่านการรับรองระบบงานจาก มกอช.ได้รับการยอมรับจาก USFDA ด้วย ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยมีความสามารถแข่งขันในการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาภายใต้ข้อกำหนดกฎหมายใหม่ และยังเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้พร้อมต่อกระแสแนวโน้มการปรับปรุงและยกระดับกฎหมายภาครัฐทั่วโลก จึงนับว่า มกอช.เป็นหน่วยงานสำคัญที่มีส่วนในการผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรไทยให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม ดร.จูอะดี ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ความสำเร็จดังกล่าวถือเป็นผลจากการปฏิบัติงานเชิงรุกของ มกอช.ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ภายใต้กระทรวงเกษตรฯ อย่างใกล้ชิด ทั้ง กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร รวมทั้งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อทำหน้าที่เป็น Single agency ด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร สามารถให้บริการได้เบ็ดเสร็จ (One stop service) ภายใต้ พรบ.มาตรฐานสินค้าเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างสมบูรณ์ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลจนเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้า สะท้อนให้เห็นได้จากการขยายปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังช่วยความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศไทย รวมทั้งหน่วยรับรองระบบงานของ มกอช. ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นด้วย"…