กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--ซีพีเอฟ
ฯพณฯ นายอูก ซอร์พวน (Mr. Ouk Sorphorn) เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย เดินทางมาพบปะและให้กำลังใจแรงงานชาวกัมพูชาที่ทำงานในโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ครบวงจร จังหวัดนครราชสีมา ของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มั่นใจแรงงานทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและเสมอภาคตามมาตรฐานแรงงานสากล
ฯพณฯ ซอร์พวน กล่าวว่า รัฐบาลกัมพูชาให้ความสำคัญกับประชาชนกัมพูชาที่ทำงานในต่างประเทศมาก เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมจากการจ้างงาน มีการจัดการและบริหารแรงงานตามมาตรฐานแรงงานสากล ตลอดจนความเป็นอยู่ที่ดี ไม่มีการเลือกปฏิบัติ
"วันนี้ ได้พบปะพี่น้องแรงงานกัมพูชาที่โรงงานของซีพีเอฟ แล้ว รู้สึกดีใจและมั่นใจที่ได้เห็นพวกเราทุกคนได้รับการปฏิบัติและดูแลอย่างดี เป็นธรรมและเท่าเทียมกันตามกฎหมายแรงงานไทยและมาตรฐานสากล ซึ่งสถานทูตฯจะส่งต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและความสุขในการทำงานระหว่างที่พักพิงในประเทศไทยไปยังครอบครัวของแรงงานได้รับทราบ ขอขอบคุณที่ซีพีเอฟดูแลชาวกัมพูชาอย่างอบอุ่น เปรียบเหมือนเป็นบ้านที่สองของพี่น้องชาวกัมพูชา" เอกอัครราชทูตฯซอร์พวน กล่าว
เอกอัครราชทูตฯ ซอร์พวน กล่าวย้ำว่า ชาวกัมพูชาที่ทำงานในต่างประเทศ มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนความก้าวหน้าของกัมพูชาและอาเซียน รวมถึงการยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของครอบครัวชาวกัมพูชาให้ดีขึ้น สถานทูตอยากเห็นความร่วมมือของทุกฝ่ายและภาคเอกชนไทยที่เป็นนายจ้างช่วยกันดูแลชาวกัมพูชาที่ทำงานและอาศัยอยู่ในเมืองไทยได้อย่างมีความสุข
ด้าน ว่าที่ร้อยตรี นิรันดร์ ดุจจานุทัศน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า แรงงานต่างชาติมีความสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของไทยสู่การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน และขอชื่นชมซีพีเอฟ ที่ให้ความสำคัญและเอาใจใส่ดูแลแรงงานตามมาตรฐานแรงงานไทยและสากล
นายปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายงานทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้ ช่วยสร้างกำลังใจที่ดีต่อชาวกัมพูชาที่อาศัยและทำงานอยู่ในประเทศไทย รวมทั้งช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับครอบครัวของแรงงานทุกคนว่าได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านแรงงานและหลักสิทธิมนุษยชน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) และนโยบายด้านการจ้างแรงงานของบริษัทฯ ที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานทุกคนในห่วงโซ่การผลิตของซีพีเอฟ ปราศจากการใช้แรงงานบังคับและแรงงานผิดกฎหมายทุกรูปแบบ ทั้งยังได้รับการพัฒนาทักษะเพิ่มขีดความสามารถและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
บริษัทฯ ยังได้ร่วมมือกับมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Rights Promotion Network: LPN) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานต่างชาติในประเทศไทย จัดตั้งศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน "ศูนย์ Labour Voices Hotline by LPN" ให้เป็นองค์กรกลางในการให้คำปรึกษา รับข้อร้องเรียนและความช่วยเหลือแรงงานที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการจ้างงาน รวมทั้งให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน กฎหมายแรงงานไทย สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่แรงงาน
นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังได้ร่วมมือกับ ซีพีเอฟ ในการทวนสอบย้อนกลับกระบวนการจัดหาแรงงานตั้งแต่ประเทศต้นทางจนถึงประเทศปลายทาง เพื่อตอกย้ำความโปร่งใสด้านการจัดหาแรงงานของบริษัทฯดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ ปราศจากแรงงานบังคับ แรงงานทาส และการจัดจ้างที่ผิดกฎหมายทุกรูปแบบ 100%
ปัจจุบัน ซีพีเอฟมีการจัดจ้างแรงงานชาวกัมพูชา 5,800 คน ชาวเมียนมา 3,500 คน คิดเป็นร้อยละ 40 ของพนักงานระดับแรงงาน โดยที่โรงงานแปรรูปเนื้อไก่นครราชสีมา มีการจ้างแรงงานกัมพูชาจำนวน 2,900 คน ซึ่งทุกคนเป็นลูกจ้างของบริษัทฯ ตามนโยบายการจัดจ้างแรงงานโดยตรง ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการอย่างเท่าเทียมตามกฎหมายและนโยบายการจ้างแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยของบริษัทฯ รวมถึงมีโอกาสเติบโตในสายงานตามความสามารถโดยไม่เลือกปฏิบัติ