กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ปลื้มผลสำเร็จการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการโตแบบก้าวกระโดด นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่พาชมธุรกิจเครื่องสำอางจากวัตถุดิบธรรมชาติ ผลิตจากข้าวหอมมะลิแดง ยอดขายทะลุ 50 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้า ปี พ.ศ. 2562 ดันผู้ประกอบการเครื่องสำอางสู่การเป็นเครื่องสำอางอินทรีย์ เพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค ยกระดับสู่มาตรฐานสากล หวังผลักดันให้ประเทศไทยเป็น "ปารีสแห่งเอเชีย"
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดเครื่องสำอางมีการแข่งขันค่อนข้างสูง จากข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่าตลาดเครื่องสำอางในประเทศไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากแรงหนุนทั้งอุปสงค์และอุปทาน หลังจากที่ในปี พ.ศ. 2560 ตลาดเครื่องสำอางไทยมีมูลค่าโดยรวมประมาณ 2.51 แสนล้านบาท แยกเป็นตลาดในประเทศ 1.68 แสนล้านบาท เติบโตร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (Skincare) ครองส่วนแบ่งตลาดเครื่องสำอางมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.8 ขณะเดียวกันการส่งออกเครื่องสำอางไทยไปยังตลาดโลกมีมูลค่าประมาณ 8.3 หมื่นล้านบาท และขณะที่ในช่วง 8 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2561 มีการส่งออกเครื่องสำอางของไทยมีมูลค่ากว่า 6.2 หมื่นล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.1 โดยมีตลาดที่สำคัญ ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และจีน ซึ่งจากตัวเลขจะเห็นได้ว่ามีการเติบโตขึ้น และคาดว่ามีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี ท่ามกลางการเติบโตดังกล่าว ผู้ประกอบการเองต้องพัฒนาสินสินค้าให้มีคุณภาพ มาตรฐาน โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และตอบโจทย์ลูกค้าหลากหลายกลุ่มมากขึ้น เช่น เครื่องสำอางสำหรับเด็ก ผู้ชาย ผู้สูงอายุ เครื่องสำอางจากวัตถุดิบธรรมชาติ หรือ เกษตรอินทรีย์ และเครื่องสำอางจากสมุนไพรไทย ขณะที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้มีการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา และช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเครื่องสำอางสู่การเป็นผู้ประกอบการเครื่องสำอางอินทรีย์ โดยจัดกิจกรรม / โครงการ เตรียมความพร้อมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ปรับปรุงกระบวนการผลิตด้วยนวัตกรรม พัฒนาบรรจุภัณฑ์ และยกระดับมาตรฐานสินค้าทั้งในประเทศ อาทิ อย. GMP และระดับมาตรฐานสากล อาทิ มาตรฐานเครื่องสำอางอินทรีย์ COSMOS เพื่อสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยจากสารเคมีของสินค้าเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง
อีกทั้งยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเรื่องผลิตภัณฑ์อินทรีย์ของไทยในสายตาของผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยให้ก้าวสู่ตลาดโลก และสามารถแข่งขันกับประเทศผู้นำด้านเครื่องสำอางได้ต่อไป นอกจากนี้ ยังบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องสำอางผ่านการดำเนินงานในรูปแบบการรวมกลุ่มทางอุตสาหกรรม หรือ คลัสเตอร์ ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 และปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นมากกว่า 30 กิจการ โดยมีการเชื่อมโยงและเสริมกิจการซึ่งกันและกัน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ รวมทั้งการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมสนับสนุนด้านต่าง ๆ เพื่อร่วมกันดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน และสามารถตอบโจทย์กระแสความต้องการของผู้บริโภคได้มากที่สุด
"เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมความงามสมุนไพรอินทรีย์และออร์แกนิคของไทยมีจุดเด่นเฉพาะตัว ทั้งทางด้านรูปลักษณ์และกลิ่น จึงเป็นโอกาสที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดย กสอ. ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ของเมืองแห่งเครื่องสำอางโลก และเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในระดับภูมิภาคเป็น "ปารีสแห่งเอเชีย" ต่อไป นายกอบชัยกล่าว
ด้านนายทัตภณ จีรโชตินันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วธูธร จำกัด กล่าวว่า บริษัท วธูธร ดำเนินธุรกิจผลิตเครื่องสำอางแบบ OEM (Original Equipment Manufacturer) และ ODM (Original Design Manufacture) ทั้งเครื่องสำอางบำรุงผิวหน้า ผิวกาย ลิปสติก สินค้าเมคอัพ ยาสีฟัน ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม ผลิตภัณฑ์สปา รวมถึงผลิตภัณฑ์สำหรับโรงแรม ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกสูตรไปผลิตของตัวเอง (ODM) หรือ สูตรที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อลูกค้าโดยเฉพาะตามความต้องการ คอนเซปต์ และงบประมาณของลูกค้า โดยทำการตลาดในรูปแบบออฟไลน์เพียงอย่างเดียว แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการกิจกรรมการสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมเป้าหมายและการสร้างโอกาสขยายช่องทางตลาดธุรกิจ (เกษตรแปรรูป) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ทาง กสอ. ได้ให้คำแนะนำปรับการทำการตลาดจากออฟไลน์เป็นออนไลน์ และยังแนะนำให้ผลิตแบรนด์ของตนเอง ชื่อ Herbalist Siam
ซึ่งเป็นการนำวัตถุดิบจากข้าวหอมมะลิแดงมาพัฒนาแปรรูปเป็นเครื่องสำอางที่ได้มาตรฐานสากล ได้แก่ ASIAN GMP , ISO22716, ISO9001 (2015) และ Halal cosmetics จนสามารถขยายช่องทางตลาดของบริษัท และได้นำผลิตภัณฑ์ไปร่วมออกบูทแสดงสินค้าในงาน "The China International Organic Food Industry Expo 2018"
"ผลิตภัณฑ์ Herbalist Siam ได้นำส่วนผสมของข้าวหอมมะลิแดง หรือ ข้าวมันปูมายกระดับ เพิ่มมูลค่า ซึ่งมีสารสำคัญที่มีประโยชน์หลากหลายและมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าข้าวทั่วไป 31 เท่า จึงเกิดการต่อยอดเพื่อทดสอบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเซลล์ Callus จากเมล็ดข้าว และพบว่าสารต้านอนุมูลอิสระรวมไปถึงกรดอะมิโนต่าง ๆ ในเซลล์ที่เพาะเลี้ยงนั้น มีสูงกว่าการสกัดจากเมล็ดข้าวดิบโดยตรง จนนำไปสู่การศึกษา วิจัย พัฒนา เพื่อการนำไปใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง จนสามารถผลิตในเชิงอุตสาหกรรมเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จและเป็น Raw Material เป็น 100% Vegan ไม่ใช้ส่วนผสมจากสัตว์ และ 100 % Cruelty-Free เพื่อจำหน่ายและส่งออกได้แล้ว ทั้งนี้ จากเดิมที่บริษัท วธูธร ผลิตแต่สินค้า OEM มีรายได้อยู่ 10,000,000 - 20,000,000 บาทต่อปี แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการกับ กสอ. และมีการพัฒนาสินค้าเป็นแบรนด์ตนเอง สามารถก่อให้เกิดมีรายได้เพิ่มขึ้น
ปีละ 40,000,000 บาทต่อปี จนยอดขายทะลุ 50,000,000 บาท เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ซึ่งถือว่าธุรกิจ
มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด" นายทัตภณ กล่าวทิ้งท้าย