กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ศ.ดร.กัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)ร่วมกับ ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (Ecber) มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ให้บริการ SMEs สู่อาเซียน โดยเปิดให้ผู้สนใจร่วมกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการกับประเทศอาเซียน +8 พร้อมกับให้ความรู้ผู้ประกอบการในการใช้ประโยชน์จากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเชื่อมโยง SMEs ไทยสู่อาเซียนและกลุ่มประเทศอาเซียน+8ด้วย โดยในปีนี้เป้าหมายของโครงการมุ่งไปที่กลุ่มประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่และประเทศที่อยู่ใกล้ประเทศไทย ซึ่งมีวัฒนธรรมการบริโภคสินค้าและพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใกล้เคียงคนไทย เช่น จีน อินเดีย พม่า และกัมพูชา
ทั้งนี้ ภายใต้โครงการดังกล่าว สสว.จะจัดให้มีสัมมนา ภายใต้หัวข้อ รุกตลาดใกล้ บุกตลาดใหญ่ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญตลาดต่างประเทศ ใน 4 ประเทศ ทั้ง จีน อินเดีย พม่า และกัมพูชา มาร่วมให้ความรู้ พร้อมคำแนะนำการลงทุนกับเครือข่ายทางธุรกิจในกลุ่มประเทศดังกล่าว โดยการสัมมนาจะจัดให้มีขึ้น 8 ครั้ง ดังนี้ 24 ก.ค.2562 ชลบุรี , 25 ก.ค. และ 5 ส.ค. 2562 กรุงเทพมหานคร , 31 ก.ค.2562 อุดรธานี , 1 ส.ค.2562 ขอนแก่น , 7 ส.ค.2562 หาดใหญ่ , 20 ส.ค.2562 เชียงราย และ 21 ส.ค.2562 เชียงใหม่ โดยผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของ สสว.สามารถเข้าร่วมสัมมนาได้ฟรี ที่ http://ecberseminar.com/ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ คุณนัฐมล ขีดเขียว ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทรศัพท์ 043-202566 ,084-231 6705
ศ.ดร.กัลปพฤกษ์ กล่าวในตอนท้ายว่า ทั้ง 4 ประเทศกลุ่มเป้าหมาย มีความน่าสนใจแตกต่างกัน โดยจีนเป็นตลาดขนาดใหญ่และเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ซึ่งเป็นทั้งตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของไทย ผู้บริโภคชาวจีนได้หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากจึงหันมาใช้สินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันสินค้าไทยมีชื่อเสียงและได้รับความไว้วางใจด้านคุณภาพจึงได้รับความสนใจจากชาวจีนจำนวนมาก ด้านประเทศอินเดียมีประชากรฐานะปานกลาง จำนวน 267 ล้านคน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 547 ล้านคน ภายในปี 2026 กลุ่มนี้สนใจสินค้านำเข้าที่มีคุณภาพเช่นกัน อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสมุนไพรธรรมชาติ ส่วนพม่าและกัมพูชานั้น รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจและเสริมสร้างความเชื่อมโยงสูงกับภูมิภาคจึงเป็นโอกาสดีของนักลงทุนไทยในการมองหาตลาดต่างประเทศที่มีพฤติกรรมผู้บริโภคใกล้เคียงกับคนไทย .