กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--เฟลชแมน ฮิลลาร์ด
คนทั่วไปมักมองว่าผู้พิการเป็นบุคคลที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้เต็มร้อย ควรได้รับการดูแลช่วยเหลือเป็นพิเศษ ในขณะเดียวกันสิ่งแวดล้อมหลายๆ อย่าง ก็ไม่ได้เอื้ออำนวยต่อผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็นพื้นทางเดินที่ขรุขระยากต่อการเข็นรถเข็น การเรียงพื้นบล็อคในบางพื้นที่อย่างไม่เป็นมิตรต่อผู้พิการทางสายตา รวมไปถึงการลดทอนบทบาท ความสำคัญของผู้พิการไปอย่างช้าๆ น่าเสียดายที่การละเลยหรือมองข้ามผู้พิการอาจทำให้เราพลาดโอกาสที่จะเห็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ ด้วยเหตุนี้เองจึงส่งผลให้มีผู้พิการจำนวนไม่น้อยมองว่าตนเองแตกต่างจากผู้อื่น ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติในสังคม นำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง และขาดความมั่นใจว่าตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคมเช่นกัน
อย่างไรก็ตามจากสถิติเกี่ยวกับสังคมการทำงานในผู้พิการ โดยอ้างอิงจากรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย เมื่อเดือนเมษายน 2562 โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ระบุว่าในปัจจุบันมีผู้พิการที่อยู่ในวัยทำงานระหว่างอายุ 15-59 ปี จำนวน 841,408 คน ซึ่งมีผู้พิการที่สามารถทำงานได้ แต่ยังไม่มีงานทำจำนวน 151,150 คน และถึงแม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายภายใต้มาตรา 33 และ 35 เกี่ยวกับการสร้างอาชีพ การทำงานสำหรับผู้พิการเพื่อให้ผู้พิการสามารถประกอบอาชีพ เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ ก็ยังต้องการการยอมรับและสนับสนุนพร้อมเปิดโอกาสให้ผู้พิการมีหน้าที่การงาน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
ทั้งนี้ ใจความสำคัญของมาตรา 33 คือ การที่บริษัทหรือสถานประกอบการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือรัฐบาล จ้างงานผู้พิการทำงานในสถานประกอบการของตนในตำแหน่งใดก็ได้ตามความเหมาะสม ในอัตราพนักงาน 100 คนต่อผู้พิการ 1 คน โดยผู้ว่าจ้างปฏิบัติต่อผู้พิการในฐานะพนักงานคนหนึ่ง และสามารถใช้สิทธิ์ประกันสังคมและสวัสดิการต่างๆ ของบริษัทได้ ซึ่งแตกต่างจากมาตรา 35 ที่จะเป็นการส่งเสริมอาชีพ ให้สัมปทาน จัดหาสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาบริการ ฝึกงาน จัดหาอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ และให้ความช่วยเหลืออื่นๆ แก่ผู้พิการหรือผู้ดูแล
เพื่อให้เกิดความชัดเจนและต่อเนื่อง เน้นประโยชน์สูงสุดต่อผู้พิการเป็นหลัก การส่งเสริมอาชีพแก่ผู้พิการอย่างยั่งยืนจึงควรมีแผนดำเนินงานสำหรับระยะสั้นและระยะยาว โดยมีตัวอย่างแผนระยะสั้น เช่น โครงการ Unlimited Dreams นำโดยมูลนิธิเวชดุสิต ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเป็นมูลนิธิภายใต้บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ที่ได้จัดกิจกรรมภายใต้โครงการฯ เป็นปีที่ 3 ในปี 2560 โดยมีการทำงานร่วมกันระหว่างแฟชั่นดีไซเนอร์แบรนด์ชั้นนำของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น Sretsis, Patinya, และ Greyhound Original พร้อมด้วยแพทย์เวชศาตร์ฟื้นฟูจากโรงพยาบาลกรุงเทพที่ให้ข้อมูลทางการแพทย์เกี่ยวกับสรีระทางร่างกายของผู้พิการ เพื่อผลิตเสื้อผ้าสำหรับผู้พิการ (Adaptive Clothing) โดยช่างตัดเสื้อผ้าล้วนแล้วแต่เป็นชาวบ้านผู้พิการกลุ่มล้านนาผ้างาม จังหวัดพะเยา และ กลุ่มผู้ปกครองเย็บผ้าที่ดูแลเด็กพิการ จากภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นการส่งเสริมรายได้แก่ผู้พิการ
นอกจากนี้ เครือ BDMS หนึ่งในผู้นำเครือข่ายการดูแลสุขภาพของประเทศไทย ที่มีเครือข่ายครอบคลุมในหลายจังหวัด ยังมีความตั้งใจเป็นกำลังสำคัญจากภาคเอกชน ด้วยแผนระยะยาวในการให้โอกาสและสนับสนุนผู้พิการในการแสดงศักยภาพผ่านการทำงาน รวมไปถึงสนับสนุนให้เกิดการสร้างอาชีพที่สามารถเลี้ยงดู และพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคม ตลอดจนให้ผู้พิการเห็นคุณค่าและเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง ตลอดระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา BDMS จึงได้ให้การสนับสนุนจ้างงานผู้พิการให้ทำงานด้านสาธารณประโยชน์ที่โรงพยาบาลส่งเสริมตำบล (รพ.สต.) ในตำแหน่ง แม่บ้าน คนสวน หรือเจ้าหน้าที่ธุรการ เป็นต้น โดยที่ผู้พิการยังสามารถอาศัยในภูมิลำเนาเดิมได้ ไม่ต้องย้ายถิ่นฐานตามที่ทำงาน หรือเกิดความลำบากเรื่องการเดินทาง การปรับตัวในสถานที่ทำงาน และสภาพแวดล้อมใหม่ ตามมาตรา 35 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 557 อัตรา
"คุณโอ๋" ผู้ช่วยนักกายภาพบำบัด โรงพยาบาลพระยุพราชกุฉินารายณ์ อายุ 42 ปี มีความพิการเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางร่างกาย ด้วยอาการขาลีบด้านขวา โดยก่อนหน้านี้คุณโอ๋ทำงานที่กรุงเทพในฐานะแม่บ้าน หลังจากนั้นได้ลาออก กลับมาตั้งหลักชีวิตที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยคุณโอ๋เล่าว่า "ปี 2560 มีคนรู้จักแนะนำให้ลองสมัครงานเป็นผู้ช่วยกายภาพบำบัดดู โดยที่ไม่มีความรู้พื้นฐานมาก่อน ซึ่งทางโรงพยาบาลได้จัดอบรมเพิ่มเติมก่อนเริ่มทำงานจริง โดยที่ทำงานอยู่ห่างจากบ้านสองกิโลเมตร ทำให้เดินทางได้สะดวก และไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน" โดยยังได้พูดถึงเครือ BDMS ที่เปิดโอกาสให้ผู้พิการได้มีอาชีพอีกด้วย "ดีใจที่ได้มาทำงานที่โรงพยาบาล ช่วยเหลือคนไข้ งานด้านบริการ ถ้าทาง BDMS ยังมีงานแบบนี้อยู่ก็อยากทำไปเรื่อยๆ รวมไปถึงขอบคุณสำหรับสถานที่ทำงานที่ไม่ต้องไปทำงานไกลบ้าน ไกลครอบครัว"
นอกเหนือจากการช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชนแล้ว อีกภาคส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญคือภาคสังคม ผ่านการหยิบยื่นความช่วยเหลือให้แก่ผู้พิการในชีวิตประจำวันเพื่อแสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจ เพื่อเป็นการตอกย้ำว่า "คนไทยไม่ทิ้งกัน" ทำให้ผู้พิการรับรู้ถึงการมีตัวตน และเกิดความรู้สึกมั่นใจว่าตนเองก็เป็นส่วนสำคัญในสังคมเช่นกัน