กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ก.แรงงาน เดินหน้าเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ส่งบุคลากร กพร. กว่า 400 คน เป็นที่ปรึกษาให้กับวิสาหกิจชุมชน ลดการสูญเสียในวงจรการผลิต เพิ่มรายได้
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญการพัฒนาประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อนำประเทศไทยไปสู่การพัฒนาแบบ 4.0 ซึ่ง กพร.ดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน สู่ SME 4.0 (STEM Workforce Towards SME 4.0) ประจำปีงบประมาณ 2562 เพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าว โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นสถานประกอบกิจการ SME กลุ่ม OTOP และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ ในปีนี้มีสถานประกอบกิจการเข้าร่วมโครงการจำนวน 228 แห่ง จัดอบรมให้พนักงานให้มีความรู้ด้าน STEM พัฒนาความคิดเชิงระบบ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน สู่ Super Worker จำนวน 15,000 คน ปัจจุบันมีบุคลากรของ กพร. ผ่านการอบรมเพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาแล้วกว่า 400 คน
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่มักประสบปัญหาเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตสูง ผลิตไม่ทันต่อความต้องการ วัตถุดิบสูญเสียไประหว่างการผลิต พนักงานไม่สามารถแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ จากปัญหาเหล่านี้ กพร.จึงได้จัดทีมที่ปรึกษาที่เป็นคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย ออกให้คำปรึกษา แนะนำเพื่อให้กระบวนงานในการผลิตดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงลดต้นทุนการผลิตในขั้นตอนต่างๆ โดยมีบุคลากรของกพร.เป็นผู้ช่วยที่ปรึกษา แต่ในปี 2562 ได้เพิ่มเป้าหมายอีก 102 แห่ง โดยบุคลากรของ กพร.ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเต็มตัว เพื่อขยายไปยังผู้ประกอบธุรกิจ SME กลุ่ม OTOP และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ได้มากยิ่งขึ้น
บริษัท แสงอรุนโคโคนัทออยล์ จำกัด เป็นบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น เข้าร่วมโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน สู่ SME 4.0 ในปี 2562 โดยสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานประจวบคีรีขันธ์ (สนพ.)ส่งบุคลากรลงพื้นที่เพื่อศึกษา วิเคราะห์ กระบวนการผลิต หาจุดบกพร่องและวิธีการแก้ไข ด้านนางสาวกอบกุล มะลิวัลย์ ผู้อำนวยการ สนพ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ได้ดูกระบวนการผลิตตั้งแต่ขั้นตอนการรับซื้อมะพร้าวจากเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าว ผ่านการกะเทาะเปลือก จนถึงขั้นตอนการบด กลั่นให้ได้น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ลงพื้นที่แล้ว 3 ครั้ง พบว่ามีมะพร้าวที่ซื้อมามีสวนหนึ่งเนาเสีย ไม่สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันได้ จึงต้องหาวิธีการตรวจ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดซื้อ เพื่อลดปริมาณมะพร้าวที่เน่าเสีย
เช่นเดียวกับสนพ.กาญจนบุรี จัดส่งเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่วิสาหกิจชุมชนตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านรางวาลย์ ซึ่งนายจำเนียร ขาวจันทร์ ผู้อำนวยการ สนพ.กาญจนบุรี กล่าวว่า เจ้าหน้าได้ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาแล้ว 6 ครั้ง ปกติกลุ่มจะรับตัดเย็บเสื้อเป็นตัว เศษผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บจะนำไปทิ้ง สนพ.กาญจนบุรี จึงแนะนำในการนำเศษผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บเสื้อ ไปประยุกต์ทำเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าและสามารถจำหน่ายเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิก เช่น เป็นถุงมือผ้ากันร้อน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
"สำหรับสถานประกอบกิจการที่สนใจมีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการนี้ ไม่ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น สมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 หรือกองพัฒนาศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบกิจการ 0 2245 4406"อธิบดี กพร.กล่าว