กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--ธนาคารไทยพาณิชย์
วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุนประจำสัปดาห์ วันที่ 10 - 14 มิถุนายน 2562
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (4 – 7 มิ.ย.) ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้น นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังจากถ้อยแถลงของประธาน Fed ส่งสัญญาณว่า Fed อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยังได้แรงหนุนจากรายงานว่า สหรัฐฯ อาจจะเลื่อนการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก ด้านตลาดหุ้นไทย ปิดบวกเช่นกัน หลังเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ช่วยหนุนเงินทุนไหลเข้า ขณะที่นักลงทุนรอติดตามความคืบหน้าปัจจัยการเมืองภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นจีนยังคงปรับลดลง จากความกังวลข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ประกอบมีรายงานว่า Huawei ปรับลดคาดการณ์ยอดขายสมาร์ทโฟนลง ในส่วนของราคาน้ำมันดิบ ปรับเพิ่มขึ้น โดยได้แรงหนุนจากการที่ซาอุดีอาระเบีย เปิดเผยว่า กลุ่มโอเปกใกล้บรรลุข้อตกลงขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน จากเดิมที่จะสิ้นสุดลงในเดือน มิ.ย.นี้
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวก หลังจากถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ระบุว่า Fed จะดำเนินการในสิ่งที่จำเป็นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และอาจนำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) กลับมาใช้อีกครั้ง นอกจากนี้ ดัชนีฯ ยังได้แรงหนุนจากรายงานว่า รัฐบาลสหรัฐฯ อาจจะเลื่อนการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกในวันที่ 10 มิ.ย. นี้
ตลาดหุ้นยุโรป ปิดบวก หลังตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของยุโรปออกมาดีกว่าคาด ส่วนผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และปรับเพิ่มคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนในปีนี้ ขณะที่ ECB ระบุว่า จะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไปอย่างน้อยจนถึงกลางปีหน้า
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปิดบวก ได้แรงหนุนจากการที่ประธาน Fed ส่งสัญญาณว่า Fed อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ตลาดหุ้นจีน (A-Share) ปิดลบ จากความกังวลข้อพิพาททางการค้า และตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับแรงขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และหุ้นกลุ่มสื่อสาร หลังมีรายงานว่าบริษัท Huawei ปรับลดคาดการณ์ยอดขายสมาร์ทโฟนลง
ตลาดหุ้นไทย ปิดบวก โดยได้รับปัจจัยเชิงบวกจากการที่ Fed ส่งสัญญาณผ่อนคลายเชิงนโยบาย และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ช่วยหนุนเงินทุนไหลเข้า ทั้งนี้ นักลงทุนรอติดตามความคืบหน้าปัจจัยการเมืองภายในประเทศ
ตลาดน้ำมัน ปิดบวก โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ สัปดาห์ล่าสุดปรับลดลงอย่างมาก และจากการที่ซาอุดีอาระเบีย เปิดเผยว่า กลุ่มโอเปกใกล้บรรลุข้อตกลงขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน จากเดิมที่ข้อตกลงจะสิ้นสุดลงในเดือนมิ.ย.นี้
ตลาดทองคำ ปิดบวกต่อเนื่อง โดย นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย จากความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้น และนักลงทุนคาดการณ์ว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย รวมทั้ง สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า
เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)
ติดตามข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยบรรณาธิการของ Global Times เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทางการจีนกำลังหามาตรการจำกัดการส่งออกเทคโนโลยีบางส่วนไปยังสหรัฐฯ โดยคาดว่า เพื่อตอบโต้การที่สหรัฐฯได้ออกมาตรการต่อต้าน Huawei แม้ว่า ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง จะระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง ขณะที่ข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐฯ-เม็กซิโก ส่งสัญญาณที่ผ่อนคลายลง หลังสหรัฐฯ ได้ระงับแผนการเก็บภาษีสินค้านำเข้าของเม็กซิโกในวันที่ 10 มิ.ย. เนื่องจาก เม็กซิโกได้ตกลงที่จะดำเนินมาตรการเพื่อยับยั้งผู้อพยพผิดกฎหมายจากเม็กซิโกเข้าสู่สหรัฐฯ
ติดตามประเด็นการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ที่อาจสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนมากขึ้น หลังกระบวนการคัดเลือกผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่ จะเริ่มในวันที่ 10 มิ.ย. และคาดว่าจะทราบผลการคัดเลือกอย่างเป็นทางการภายในวันที่ 26 ก.ค.นี้ โดยคาดว่า นายบอริส จอห์นสัน ซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษแบบไม่มีข้อตกลง (No deal Brexit) และสนับหนุนให้เกิดการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ภายใน 31 ต.ค.นี้ จะเป็นตัวเต็งหัวหน้าพรรคคนใหม่
ประเด็นการเมืองในประเทศมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่รัฐสภาได้มีการเลือกพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดย นักลงทุนรอติดตามการจัดตั้งคณะรัฐบาล ซึ่งจะสะท้อนถึงความต่อเนื่องของการดำเนินโยบาย และความมีเสถียรภาพทางการเมือง
มุมมองของเราในสัปดาห์นี้
เราคาดว่า ตัวเลขเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มชะลอตัวลง จากผลกระทบของสงครามการค้า ขณะที่ ความกังวลต่อประเด็นประเด็นเรื่อง Brexit แบบไร้ข้อตกลง และประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ยังคงกดดันการลงทุนในตลาดหุ้น หลังนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ พบกับนายอี้ กัง ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน ในการประชุมสุดยอดรัฐมนตรีคลังของกลุ่มประเทศ G20 แต่ยังไม่สามารถมีข้อตกลงใด ๆ จนกว่าผู้นำทั้ง 2 ประเทศจะพบกันในการประชุม G20 ที่ญี่ปุ่น ในวันที่ 28-29 มิ.ย.นี้ โดยนายอี้ กัง กล่าวว่า จีนมีนโยบายมากพอในการรับมือ หากสงครามการค้ารุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นอาจได้รับแรงหนุน จากการที่ นักลงทุนคาดหวังว่า ธนาคารกลางหลักๆ เช่น Fed และ ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัว จากผลกระทบของสงครามการค้า ขณะที่ ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จากความชัดเจนทางการเมือง ซึ่งช่วยสนับสนุนเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ท่ามกลางเงินบาทที่ยังคงแข็งค่า
ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้
ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ยอดส่งออก-นำเข้าของจีน / ยอดคำสั่งซื้อเครื่องจักรของญี่ปุ่น / ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่น และอังกฤษ / อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และจีน / ยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ และจีน / การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของจีน
เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ ความคืบหน้าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-ประเทศคู่ค้า / ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) / การจัดตั้งรัฐบาลของไทย
วิเคราะห์โดย: SCB CIO Office