กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--ปตท.
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) ปรับลดอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของจีน ในปี พ.ศ. 2562 อยู่ที่ 6.2 % ต่อปี จากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าที่ 6.3 % ต่อปี และในปี พ.ศ. 2563 อยู่ที่ 6 % ต่อปี จากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 6.1 % ต่อปี พร้อมกล่าวเตือนว่า หากปัญหาทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศยังไม่คลี่คลาย อาจทำให้ GDP ของโลก ในปี พ.ศ. 2563 ลดลง 0.5 % ต่อปี (ในเดือน เม.ย. 62 IMF คาดการณ์ GDP โลก ปี พ.ศ. 2563 อยู่ที่ 3.6 % ต่อปี)
- Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์สหรัฐฯ สัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 6.8 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 483.3 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับตัวลดลง 849,000 บาร์เรล
- EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 31 พ.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 100,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 12.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่
- U.S. Census Bureau ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบ เดือน เม.ย. 62 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 100,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 2.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยแคนาดาเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่ระดับ 589,000 บาร์เรลต่อวัน ตามด้วยอินเดีย ที่ 392,000 บาร์เรลต่อวัน และเกาหลีใต้ ที่ 356,000 บาร์เรลต่อวัน
- Intercontinental Exchange (ICE) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 มิ.ย. 62 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 48,409 สัญญา มาอยู่ที่ 304,327 สัญญา ลดลงต่อเนื่อง 2สัปดาห์
- Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานการณ์ลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดนิวยอร์กและตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 มิ.ย. 62 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Position ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 13,196 สัญญา มาอยู่ที่ 198,884 สัญญา
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 มิ.ย. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 11 แท่น มาอยู่ที่ 789 แท่น ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 61
- รมว. กระทรวงพลังงานซาอุดิอาระเบีย นาย Khalid al-Falih ระบุกลุ่ม OPEC และพันธมิตรสนับสนุนการควบคุมปริมาณการผลิตต่อในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2562 โดยซาอุฯ ผลิตน้ำมันดิบในเดือน พ.ค. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 90,000 บาร์เรลต่อวัน ที่ระดับ 9.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน และต่ำกว่าปริมาณการผลิตตามข้อตกลงที่ระบุไว้ที่ 10.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- Reuters รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปของเวเนซูเอลา ในเดือน พ.ค. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 17% มาอยู่ที่ 874,500 บาร์เรลต่อวัน จากผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของรัสเซีย นาย Alexander Novak และรัฐมนตรีว่ากระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบีย นาย Khalid al-Falih มีแผนหารือร่มกันเกี่ยวกับเศรษฐกิจ พลังงานและเกษตรกรรมในงาน St. Petersburg International Economic Forum (SPIEF) ที่เมือง St.Petersburg ประเทศรัสเซีย ในวันที่ 10 มิ.ย. 62
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันปิดตลาดวันศุกร์ปรับตัวเพิ่มขึ้นตอบรับกระแสข่าวกลุ่ม OPEC และชาติพันธมิตรนำโดยซาอุดิอาระเบีย และรัสเซียมีแผนจะขยายเวลาการลดปริมาณการผลิตน้ำมันซึ่งเดิมจะสิ้นสุดในเดือนนี้ออกไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2562ประกอบกับรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันของ OPEC ในเดือน พ.ค. 62 ลดลงจากเดือน เม.ย. 62 ประมาณ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 23.01 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากอิหร่านส่งออกลดลงนับแต่มาตรการผ่อนผันของสหรัฐฯสิ้นสุด และท่อขนส่งน้ำมันของไนจีเรียประสบปัญหา ผนวกกับการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และเม็กซิโกได้ข้อสรุปทำให้สหรัฐฯ ประกาศยกเลิกแผนการขึ้นภาษีนำเข้าจากเม็กซิโก อย่างไรก็ดีทิศทางเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามองจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าที่มีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลกระทบทางลบทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก และสำนักต่างๆ เริ่มปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลง ล่าสุดจากการสำรวจของสื่อโดยArgus พบว่า 2 ใน 3 ของกลุ่มผู้บริหารสูงสุดทางด้านการเงินของบริษัทในสหรัฐฯ ที่ทำการสำรวจเชื่อว่าหากสงครามการค้ายืดเยื้ออาจทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปีหน้า และให้ติดตามการประชุม G-20 ที่ประเทศญี่ปุ่นปลายเดือนนี้ โดยสหรัฐฯ กล่าวถึงความพร้อมที่จะขึ้นภาษีกับจีนหากตกลงกันไม่ได้ โดยมีประเด็นสำคัญเรื่องการยกเลิกข้อบังคับให้ต่างชาติที่ลงทุนในจีนถ่ายโอนเทคโนโลยีให้กับจีน ขณะที่จีนตอบโต้ว่าพร้อมที่จะดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติม หากสงครามการค้ารุนแรงขึ้น ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 61-66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 52-57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 59.5-64.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินลดลงจากแรงขายของ จีน และ ไต้หวัน ประกอบกับ บริษัท Zhejiang Petrochemical ของจีนประสบความสำเร็จในการเริ่มทดสอบเดินเครื่องโรงกลั่น (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) และคาดว่าจะเดินเครื่องได้เต็มกำลัง ในไตรมาส 3/62 และ EIA รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 234.1 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 เดือน และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 มิ.ย. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 220,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.47 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 มิ.ย. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 30,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.90 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 66-71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงเนื่องจากแรงขายของอียิปต์ และ ไต้หวัน อีกทั้ง Platts รายงาน Arbitrage น้ำมันดีเซลจากภูมิภาคตะวันออกไปยังตะวันตกปิด ขณะที่ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 129.4 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 เดือน อย่างไรก็ตาม บริษัท Ceypetco ศรีลังกา และ Engen Petroleum Ltd. ของแอฟริกาใต้ ออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล และ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 มิ.ย. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 860,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.09 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 มิ.ย. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 920,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 8.21 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 72.5-77.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล