กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--กระทรวงวัฒนธรรม
วันที่ 11 มิ.ย.2562 ที่ห้องประชุม 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์ฯ ครั้งที่ 2/2562 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบวีดิทัศน์รายงานผลการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งรัฐบาลโดย "ทีมประเทศไทย" ที่เป็นการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และภาคีเครือข่ายต่าง ๆในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยในปี 2560–2561 สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยรวมมูลค่าไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี และพัฒนาองค์ความรู้และให้ทุนสนับสนุนทุนการผลิตภาพยนตร์และวีดิทัศน์กว่า 190 โครงการ
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาคณะกรรมการภาพยนตร์ฯในนามทีมประเทศไทยได้เข้าร่วมงานเทศกาลและตลาดภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในต่างประเทศ 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส เพื่อเจรจากับนักลงทุนทั่วโลกและมีมูลค่าการเจรจากว่า 3,800 ล้านบาท รวมทั้งได้ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของอาเซียน ซึ่งผลจากการดำเนินงานดังกล่าวได้เพิ่มศักยภาพ ทำให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในกลุ่มอาเซียนโดยอยู่อันดับ 5 ในภูมิภาคเอเชีย รองจากญี่ปุ่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และพร้อมก้าวสู่ระดับโลกอย่างยั่งยืน
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ได้รับรายงานการขออนุญาตเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยและที่เกี่ยวข้อง ประจำปี พ.ศ.2562 ตั้งแต่เดือนม.ค.-พ.ค. มีทั้งหมด 312 เรื่อง และมีประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในไทยมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 53 เรื่อง อินเดีย 45 เรื่อง และจีน 39 เรื่อง ส่วนประเภทภาพยนตร์ที่เข้ามาถ่ายทำในไทยมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ภาพยนตร์โฆษณา/ประชาสัมพันธ์ 166 เรื่อง สารคดี 66 เรื่อง และรายการโทรทัศน์ 51 เรื่อง และรายได้จากการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยรวมกว่า 2,879 ล้านบาท โดยประเทศที่เข้ามาถ่ายทำและสร้างรายได้จากการเข้าถ่ายทำมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ และไอร์แลนด์เหนือกว่า 761 ล้านบาท ฮ่องกงกว่า 649 ล้านบาทและสหรัฐอเมริกากว่า 475 ล้านบาท
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันที่ประชุมรับทราบการเตรียมการจัดกิจกรรมส่งเสริมเผยแพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในไทยและต่างประเทศ เช่น การเข้าร่วมงานตลาดภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติ นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 16-18 มิ.ย.2562 โดยไทยไปจัดคูหาประชาสัมพันธ์และจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในงานดังกล่าว และมีภาพยนตร์ไทยที่ผ่านการคัดเลือกจากผู้จัดงานให้จัดฉายในงานดังกล่าว ได้แก่ แอปชนแอป , ศักรินทร์ ตูดหมึก, นคร-สวรรค์, แสงกระสือ และLondon Sweeties การจัดเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2562 ระหว่างวันที่ 3-8 ก.ค.2562 ณ กรุงเทพฯ ซึ่งมี 4 กิจกรรมประกอบด้วย 1.จัดฉายภาพยนตร์ 12 เรื่องจาก 13 ประเทศ 2.จัดฉายภาพยนตร์อันทรงคุณค่าในอาเซียน 3 เรื่องจาก 3 ประเทศ 3.จัดประกวดภาพยนตร์อาเซียน 12 เรื่องจาก 13 ประเทศ โดยแบ่งเป็น 3 ประเภทรางวัล คือ รางวัล Best ASEAN Film ได้รับรางวัลเงินสด 10,000 ดอลล่าร์สหรัฐ พร้อมถ้วยรางวัล รางวัล Jury Pize ได้รับรางวัล 5,000 ดอลล่าร์สหรัฐ พร้อมถ้วยรางวัล และรางวัล Special Mention ได้รับรางวัลเงินสด 2,000 ดอลล่าร์สหรัฐ พร้อมถ้วยรางวัล 4.จัดฉายภาพยนตร์จาก 3 ประเทศเอเชียตะวันออก ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น และ5.สัมมนาของPurin Foundation หัวข้อ Producing Fist Features ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการผลิตภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก