กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--ทีที พีอาร์
มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ จับมือ ปางช้างแม่แตง เปิดโรงเรียนควาญช้าง เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมการเลี้ยงช้างไทยและเชิดชูควาญช้างไทย พร้อมยกอาชีพควาญช้างให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
ที่ปางช้างแม่แตง บ.แม่ตะมาน ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.ประพันธ์ ธรรมไชย รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้กล่าวเปิดงานโครงการโรงเรียนควาญช้างมือหลักสูตรควาญช้างอาชีพ รุ่นที่ 1 โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้ร่วมมือกับทางปางช้างแม่แตง จัดอบรมควาญช้างขึ้นระหว่างวันที่ 8 มิถุนายน ถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2562 ที่ ปางช้างแม่แตงและมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ทั้งนี้มีการจัดการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยมีวิทยากรจากสถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมย์ฯ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปศุสัตว์อำเภอแม่แตง และ คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ดร.บังอร ฉัตรรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้เปิดเผยว่า ทางสถาบันได้มองเห็นความสำคัญของอาชีพควาญช้าง และ เป็นภารกิจของทางมหาวิทยาลัยอยู่แล้วที่ต้องรับใช้ท้องถิ่น มีการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงได้ร่วมกับปางช้างแม่แตงจัดให้มีหลักสูตรฝึกอบรมควาญช้างอาชีพขึ้นมา โดยจัดให้มีการอบรมใน 3 ระดับชั้น คือ หลักสูตรควาญช้างอาชีพขั้นพื้นฐาน ขั้นกลาง และระดับสูงต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้
ดร.บุญทา ชัยเลิศ ประธานบริหารปางช้างแม่แตง ผู้ริเริ่มโครงการโรงเรียนควาญช้าง ได้กล่าวว่า ปางช้างแม่แตงอยู่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับช้างมากว่าสองทศวรรษ รักและผูกพันกับช้างมาอย่างยาวนาน มองเห็นความสำคัญของควาญช้างว่าเป็นผู้ที่มีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับควาญช้างมากที่สุด ช้างจะได้รับการดูแลดีหรือไม่ดีก็อยู่ที่ควาญช้างว่ามีความรู้ความสามารถขนาดไหน จึงได้เกิดเป็นโรงเรียนควาญช้างแห่งนี้เกิดขั้นมา เพื่อสร้างบุคคลากรที่มีคุณภาพให้กับวงการช้างไทย ที่ยีงขาดแคลนควาญช้างอยู่อีกจำนวนไม่น้อย
ด้านนางสาวสุภาภรณ์ ฤทธิพฤกษ์ นางสาวเชียงใหม่ ประจำปี 2560 รองอันดับหนึ่งมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017 ซึ่งได้มาร่วมแสดงความยินดีในการเปิดโครงการอบรมควาญช้าง หรือโรงเรียนควาญช้าง กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทุกท่านเห็นความสำคัญของอาชีพควาญช้าง และ ช้างไทยของเรา ที่จะได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่ดีขึ้น จากควาญช้างมืออาชีพที่ได้รับการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ตามวิถีวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างไทย และต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ที่ได้ให้ความสำคัญ สร้างหลักสูตรที่ทรงคุณค่านี้ขึ้นมา ในฐานะนักศึกษาคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ รู้สึกยินดีมากที่ทางมหาวิทยาลัยของเราให้ความสำคัญกับท้องถิ่น พัฒนาความรู้ให้กับชุมชน ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญ และต้องชื่นชมปางช้างแม่แตง ที่ให้ความร่วมมือทั้งบุคคลากรและสถานที่ในการการเรียนการสอน และขอขอบคุณควาญช้างทุกท่าน ที่พร้อมใจกันมาร่วมโครงการเพื่อศึกษาเพิ่มเติมและพัฒนาทักษะในอาชีพที่ทรงเกียรตินี้และเหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่คาดว่าจะได้รับก็คือช้างไทยของเราได้รับการดูแลเอาใจใส่ ได้รับสวัสดิภาพที่ดีสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น รักช้าง ดูแลช้าง เพราะช้างคือสัตว์สำคัญคู่บ้านคู่เมือง เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยเรา