กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--ธนาคารกรุงไทย
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าบริษัทเตรียมจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 4 กองทุน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี วันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2562 ในวันที่ 14 มิถุนายน 2562 นี้
ประกอบด้วย กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย( TFFIF) โดยบริษัทเป็นผู้จัดการกองทุนร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ที่ประชุมคณะกรรมการจัดการลงทุน มีมติจ่ายเงินปันผล และลดทุนจดทะเบียนครั้งที่ 2 โดยจ่ายเงินปันผล ในอัตรา 0.1025 บาทต่อหน่วย และลดทุนจดทะเบียน จากสภาพคล่องส่วนเกินที่เกิดจากการตัดจำหน่ายค่าใช้จ่ายในการออกและเสนอขายหน่วยลงทุน ซี่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสด โดยลดเงินทุนจดทะเบียนในอัตรา 0.0158 บาทต่อหน่วย รวมเป็นเงินจ่ายปันผลและลดทุนทั้งสิ้นในอัตรา 0.1183 บาทต่อหน่วย ด้วยการลดมูลค่าที่ตราไว้ จากหน่วยละ 9.9911 บาท ลดลงเหลือหน่วยละ 9.9753 บาทต่อหน่วย รวมเป็นเงินกว่า 468 ล้านบาท ทั้งนี้ กองทุนลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ในสิทธิที่จะได้รับร้อยละ 45 ของรายได้ค่าผ่านทางรวมสุทธิที่จัดเก็บได้จากเส้นทางในปัจจุบันของทางพิเศษฉลองรัฐ และบูรพาวิถี ตามสัญญาโอน และรับโอนสิทธิในรายได้ ( RTA ) เป็นระยะเวลา 30 ปี
กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( EGATIF) จ่ายเงินปันผลครั้งที่ 14 ในอัตรา 0.20 บาทต่อหน่วย คิดเป็นเงินกว่า 417 ล้านบาท กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ตลาดไท ( TTLPF ) จ่ายเงินปันผลครั้งที่ 34 ในอัตรา 0.4220 บาทต่อหน่วย รวมเป็นเงินประมาณ 76 ล้านบาท และกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ซี .พี ทาวเวอร์ โกรท ( CPTGF ) จ่ายเงินปันผล ครั้งที่ 21 ในอัตรา 0.2180 บาทต่อหน่วย เป็นเงินกว่า 210 ล้านบาท ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลทั้ง 4 กองทุน รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 1,200ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่ายกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ 2 กองทุนให้นักลงทุนได้เลือกตามความเหมาะสม ได้แก่ กองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 241 ( KTFF241) อายุโครงการ 12 เดือน และกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 245 ( KTFF245) อายุโครงการ 6 เดือน ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 18 มิถุนายน 2562 เงินลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท เน้นลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
โดยกองทุน KTFF 241 และกองทุน KTFF 245 ลงทุนในเงินฝากประจำ Agricultural Bank China , Bank of China , China Construction Bank Asia , Qatar National Bank , AL Khalimj Commercial Bank , AL Ahli Bank และ Commercial Bank PQSC ผลตอบแทนของกองทุน KTFF 241 อยู่ที่ประมาณ 2.00% ต่อปี ส่วนกองทุน KTFF 245 อยู่ที่ 1.80%
สำหรับอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศ อายุคงเหลือต่ำกว่า 6 เดือน ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแรงขายทำกำไรของนักลงทุน ในขณะที่อายุคงเหลือตั้งแต่ 6 เดือน ขึ้นไป อัตราผลตอบแทนมีการปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุตามแรงซื้อ โดยเฉพาะจากนักลงทุนต่างชาติตามกระแส การหันมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ( Risk off ) จากความกังวลเรื่องสงครามการค้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มที่อาจจะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ มีการปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุ เนื่องจากความกังวลเรื่องสงครามการค้า และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 75,000 ตำแหน่งต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 175,000 ตำแหน่ง และอัตราการจ้างงานรายชั่งโมงที่ชะลอตัว โดยอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ อายุคงเหลือ 2 ปี ปรับตัวลดลง 10 bps. มาอยู่ที่ 1.85% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี ปรับตัวลดลง 8 bps. อยู่ที่ 1.85% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวลดลง 5 bps มาอยู่ที่ 2.09% ต่อปี ทั้งนี้ กองทุน KTFF 245 และกองทุน KTFF 241 จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยง ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกมีความผันผวน จากปัจจัยต่างๆ และต้องการโอกาสรับผลตอบแทนตามที่กำหนดไว้
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน / ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต