กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--ชมฉวีวรรณ
"เพราะเราเป็นเรา เขาจึงมา" คอนเซ็ปต์สั้นๆนี้ เชื่อหรือไม่ว่าเกิดมาจากคนกลุ่มหนึ่งของ "บ้านโพนสูง" ที่มีความหวงแหนและต้องการอนุรักษ์ถิ่นฐานและอาชีพเกษตรกรรม ให้คงอยู่ให้ได้ท่ามกลางสังคมเมือง ใจกลางจังหวัดนครราชสีมาที่เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องขนาดใหญ่ รวมไปถึงหมู่บ้านจัดสรรทั้งหลายที่ผุดขึ้นมากมายหลายโครงการ
หลายคนเริ่มสงสัยว่า ทำไมพลังของคนกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่ง ถึงสามารถขับเคลื่อนและสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่เกษตรกรรมแห่งนี้ที่ยังเต็มไปด้วยธรรมชาติที่สมบูรณ์ให้เกิดเป็นความยั่งยืน เพื่อลดการเก็งกำไรจากการขายที่ดินให้แก่นายทุนจนเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนนิเวศน์เกษตรเมืองได้สำเร็จ
วันนี้ได้ลองไปเปิดประตูดูวิถีชุมชนบ้านโพนสูง อะไรที่ทำให้พวกเขาถึงอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง และอะไรที่มาช่วยขับเคลื่อนให้ "ความฝัน" ของพวกเขาได้เกิดขึ้นจริงๆ
คุณสุภารัตน์ ช่อดอกรัก ผู้จัดการเขตธุรกิจ สาขานครราชสีมา ทีเอ็มบี กล่าวว่า อย่างที่ทราบกันดีว่า ทีเอ็มบี มีโครงการ FAI-FAH for Communities ที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด Make THE Difference เปลี่ยน...เพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น ซึ่งถูกขับเคลื่อนโดยการรวมพลังของผู้บริหารและอาสาสมัครทีเอ็มบีทั้งองค์กร จากทั่วประเทศ ที่ตั้งใจและมุ่งมั่นลงมืออาสาทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา และส่งต่อองค์ความรู้ ร่วมแรง ร่วมใจ เปลี่ยนชุมชนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และชุมชนโพนสูงแห่งนี้ เป็นหนึ่งชุมชนที่มีความเข้มแข็ง และเห็นความตั้งใจของทุกคนที่ต้องการรักษาพื้นที่ตรงนี้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราอยากมาร่วม "เปลี่ยน" เพื่อให้เกิดความยั่งยืน จึงเกิดเป็นโครงการ "ท่องเที่ยวบ้านโพนสูง นิเวศน์ เกษตรขอบเมือง" ขึ้นมา
"ชุมชนโพนสูง เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่มีความเป็นธรรมชาติแต่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองโคราช ขณะเดียวกันพื้นที่บริเวณเมืองโคราชถือเป็นแหล่งทำเลทอง แต่ละปีที่ดินตรงนี้มูลค่าเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่า ที่สำคัญมีการขยายพื้นที่สร้างเป็นอาคาร โรงแรม และบ้านจัดสรรเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ทำให้ชุมชนที่มีวิถีชีวิตดั้งเดิม มีอาชีพทำนา ปลูกผัก แล้วส่งผลผลิตขายตามท้องตลาด อาจได้รายได้ไม่ได้เยอะมาก จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายครอบครัวตัดสินใจขายที่ดิน ให้บ้านจัดสรร แต่มีคนกลุ่มหนึ่งนำโดยผู้ใหญ่บ้านอรุณ ที่มีความเข้มแข็งมาก และตั้งใจที่จะดำรงพื้นที่แห่งนี้ให้คงอยู่ และคงอัตลักษณ์เดิมของชุมชนให้ได้ แต่ด้วยพื้นที่ชุมชนโพนสูง มีความเป็นธรรมชาติมากแต่อยู่ท่ามกลางป่าคอนกรีต หากจะสร้างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ แล้วขายแค่ความเป็นธรรมชาติอย่างเดียวคงไม่อาจจะดึงดูดคนได้เท่าที่ควร แต่ต้องมีบางอย่างมาดึงดูดให้มีเสน่ห์มากขึ้น ซึ่งต้องยังคงความเป็นวิถีของชาวบ้าน" ทางทีมอาสามัครทีเอ็มบีจึงลงพื้นที่สำรวจและดูว่าควรจะเพิ่มเติมอะไร และได้ร่วมทำกิจกรรมเวิร์กชอปกับชุมชน ได้ผลสรุปคือ การปรับชุมชนให้เป็นเส้นทางปั่นจักรยาน เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเชิญชวนคนจากที่อื่นมาร่วมมาสัมผัส จึงมีการปรับภูมิทัศน์ใหม่ๆ ให้ดูน่าสนใจ โดยเฉพาะการทำเส้นทางปั่นจักรยาน โดยเรามาผนวกกับวิถีชาวบ้านที่ยังคงใช้จักรยานปั่นเป็นหลัก และคนยุคนี้ สนใจที่จะปั่นจักรยาน ท่องเที่ยวธรรมชาติ จึงเป็นไอเดียทำเส้นทางปั่นจักรยานขึ้นมา นอกจากนี้ยังได้นำประสบการณ์การเป็น "แบงก์เกอร์" มาช่วยแนะนำ ในเรื่องด้านบริหารจัดการ เรื่องระบบบัญชีการจัดการรายรับรายจ่าย เพื่อชาวบ้านจะได้รู้วิธีการทำงานและจัดสรรรายรับรายจ่ายอย่างเป็นระบบ
"แม้ที่ผ่านมาจะมีอุปสรรคบ้างในระหว่างทาง รวมทั้งระยะเวลาจำกัดเพียงแค่ 3 เดือน แต่พวกเราเหล่าอาสาสมัครรู้สึกภูมิใจมากๆ ได้เห็นรอยยิ้มของชาวบ้าน ที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของชุมชนในทางที่ดี และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่คงรักษาวิถีเดิมของคนชุมชน เหมือนเป็นก้าวแรกยิ่งใหญ่มาก เป็นความสำเร็จที่เห็นรูปร่างชัดเจนมากขึ้น และเชื่อว่าไม่นานเกินรอพื้นที่แห่งนี้ที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว จะยิ่งมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จนเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติของจังหวัดนครราชสีมาที่อยู่ในแผนที่ท่องเที่ยวของ ททท. ที่คนในจังหวัดเองหรือนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นต้องมีอยู่ในลิสต์ว่ามาโคราชเมื่อไรต้องแวะสัมผัสธรรมชาติที่ชุมชนโพนสูงแน่นอน" คุณสุภารัตน์ กล่าวทิ้งทาย
นายอรุณ ขันโคกสูง ผู้ใหญ่บ้านโพนสูง กล่าวว่า เดิมชุมชนตรงนี้จะทำเกษตรกรรมแบบผสม ใช้วิถีชีวิตเดิมๆ แต่ในช่วงหลังๆ พื้นที่บริเวณนี้เริ่มพัฒนาเป็นเขตชุมชนเมือง ก็เริ่มมีการขายที่ดิน จึงมาคิดว่าเราต้องรักษาที่ดินตรงนี้อย่างไร และทำพื้นที่ให้มีความยั่งยืน ที่ผ่านมาตนได้พยายามเกลี้ยกล่อมให้ชาวบ้านไม่ขายพื้นที่ทำกิน แต่การจะทำได้นั้น เราต้องทำให้พื้นที่ตรงนี้มีมูลค่าด้วยตัวเอง จึงคิดว่าทำอย่างไรให้ชุมชนมีความยั่งยืน เริ่มแรกทำโดยพยายามสร้างอาชีพในพื้นที่เขา เช่น การทำผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ ถึงแม้จะสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน แต่รายได้อาจจะไม่มากแต่ทำให้พวกเขาพออยู่กันได้ เมื่อเราอยากจะอนุรักษ์พื้นที่การเกษตรตรงนี้ไว้ และชุมชนโพนสูง ไม่ไกลจากเมือง หากจะทำเรื่องการท่องเที่ยว ก็น่าจะทำได้อยู่ เพราะพื้นที่ตรงนี้ใกล้กับโบสถ์ 300 ปี รวมทั้งใกล้กับร้านขนมจีนชื่อดัง ที่สำคัญใกล้ตัวเมือง หากทำเป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงเกษตรขึ้น น่าจะเป็นอะไรที่แปลกใหม่ เนื่องจากตอนนี้โคราชมีคนเข้ามาซื้อพื้นที่เยอะมาก และส่วนใหญ่เป็นคนจากที่อื่นแทบทั้งสิ้น "คนจากที่อื่นๆ ก็อยากจะมาเห็นอะไรที่หาไม่ได้จากเมือง กอปรกับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ที่เคยมาสำรวจพื้นที่ชุมชนโพนสูง และมีแนวคิดตรงกันที่อยากจะรักษาพื้นที่ธรรมชาติตรงนี้เช่นกัน จึงร่วมมือกันว่าต้องทำพื้นที่ตรงนี้ให้คนจดจำโดยการ "สร้างบ้านนอกให้อยู่ในเมือง" อย่างที่บอกว่าชุมชนตรงนี้เป็นเกษตรกรรมแบบผสม ลำพังปลูกข้าวอย่างเดียว หรือทำผลิตภัณฑ์แปรรูปไม่กี่อย่างไม่น่าจะสร้างรายได้เพียงพอ จึงพยายามสร้างอาชีพเพิ่มโดยนำสิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่มาทำให้เกิดดอกออกผล ของดีๆ ของชุมชนเรามีเยอะ ที่น่าจะมาสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน จึงทำมีการรวมกลุ่มทำอาชีพ อาทิ การทำขนมไทย, น้ำมะนาว, น้ำหม่อน, หมูหลุม, ฟาร์มจิ้งหรีด, เพาะเห็ด เป็นต้น รวมทั้งตอนนี้เรามีโฮมสเตย์บริการอีกด้วย พร้อมกับได้เน้นเสมอ ต้องสะอาด และน่ามอง ที่ผ่านมาจะมีข้าราชการ หรือกลุ่มเกษตรกรหลายแห่งที่ติดต่อมาดูงานเรื่องการทำเกษตร ก็จะเข้ามาพัก ซึ่งตนตั้งใจว่าอยากจะต่อยอดให้มีคนนอกที่อยากจะมาสัมผัสธรรมชาติ เชิงเกษตร ตามวิถีชุมชน ได้เข้ามาพัก พร้อมกันนี้เรายังเตรียมจักรยานส่วนกลางไว้รองรับ บริการให้แก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย"
"สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ได้ เหล่าอาสาสมัครทีเอ็มบี ที่เข้ามาร่วมเติมเต็มให้ชุมชนเราเป็นรูปเป็นร่างและมีความชัดเจนมากขึ้น จากเดิมพวกเราอาจจะทำแบบไม่ได้เป็นระบบมากมาย และไม่มีการกำหนดเวลาว่าจะต้องเสร็จเมื่อไร แต่เมื่อ อาสาสมัครทีเอ็มบี เข้ามาเหมือนมาจุดไฟ จุดประกายให้เรา ยิ่งทำให้เราอยากจะเติมน้ำมัน เพื่อสานต่อให้สำเร็จ ตอนนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเกินคาดกว่าที่เราคิด ต้องขอบคุณทางอาสาสมัครทีเอ็มบี จริงๆ เข้าใจว่าทุกคนต้องเหนื่อย เพราะแต่ละคนมีงานประจำอยู่แล้ว แต่ต้องเสียสละเวลา มาร่วมเปลี่ยนชุมชนโพนสูงให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรกรรมได้จริง รวมทั้ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มาช่วยเติมเต็มความมีเสน่ห์ให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย"
อาจารย์ ภัทรศักดิ์ สิมโฮง อาจารย์สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า จุดเริ่มต้นตอนแรกที่ทางมหาวิทยาลัย เข้ามาสำรวจแล้ว 3 ปี เพราะเรามาจากต้องการอนุรักษ์หวงแหนพื้นที่เกษตร เพราะตอนนี้โคราชกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว เราจึงอยากอนุรักษ์พื้นที่ตรงนี้ที่อยู่ใกล้เมือง ให้คงอยู่ เมื่อรู้ว่า ชุนชนแห่งนี้มีกลุ่มคนที่เข้มแข็ง ที่มีความตั้งใจในการรักษาพื้นที่นี้ให้คงอยู่ รวมทั้งตัวผู้ใหญ่บ้านอรุณ เป็น เกษตรกรรุ่นใหม่ ที่พยายามจะสร้างผลิตผลทางการเกษตรมากมาย เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน แต่เมื่อเราสำรวจกันแล้ว พบว่าพื้นที่แห่งนี้มีอะไรที่น่าสนใจอีกมาก สามารถทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ เช่น แปลงนาบัว ริมคลองบริบูรณ์ คิดว่าจะจัดเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวด้วยและเป็นแหล่งให้ข้อมูลเชิงเกษตร นอกจากนี้เรายังเชิญศิลปินชื่อดังอย่าง อาจารย์ไพโรจน์ ธีระประภา มาร่วมสำรวจลงพื้นที่พร้อมกับแนะนำว่าควรจะเพิ่มอะไรบ้าง เพื่อให้พื้นที่แห่งนี้มีมนต์เสน่ห์และความเก๋ยิ่งขึ้น โดยที่คงตามแบบฉบับดั้งเดิม
"เมื่อมีจุดเริ่มต้น แต่การจะทำให้เป็นจริงได้ต้องมีองค์ประกอบหลายๆอย่าง ที่มาช่วยผลักดันให้เกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นจริง เมื่อ อาสาสมัครทีเอ็มบี เข้ามาและมีความที่ตั้งใจและมุ่งมั่นลงมืออาสาทำงานร่วมกับชุมชน พร้อมทั้งมอบความรู้ต่างๆ ผมกับทางผู้ใหญ่รับรู้ได้ทันทีว่าแหล่งท่องเที่ยวตรงนี้จะเกิดขึ้นได้จริงแน่ๆ เหมือนมาช่วยทำความฝันให้ชาวชุมชนโพนสูงได้เป็นจริงเร็วขึ้น ลำพังชุมชนกับทางมหาวิทยาลัย ที่ช่วยกันทำอาจจะยังไม่สำเร็จได้เร็วแบบนี้"
"หลังจากที่เฟสแรกเราทำชุมชนแห่งนี้เกิดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวได้ โจทย์ต่อมาคือในเฟส 2 ที่พวกเรากำลังร่วมมือกันสร้างให้พื้นที่แห่งนี้สามารถมาท่องเที่ยวตามฤดูกาล นักท่องเที่ยวมาได้ตลอด เพราะในแต่ละช่วงฤดูของโคราชจะมีความพิเศษ จึงน่าจะนำมาล้อกับเรื่องการท่องเที่ยวของเมืองโคราชได้ หากคุณมาในฤดูร้อน ก็มาสัมผัสบรรยากาศอีกแบบ ฤดูฝนคุณก็มาดูความชมชื่นความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติได้อีก เมื่อเข้าฤดูหนาวที่โคราช จะอากาศจะดีมากไม่หนาวจนเกินไป และยิ่งได้มาปั่นจักรยานท่ามกลางเส้นทางธรรมชาติของเราด้วย เชื่อว่าจะเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เหล่านักท่องเที่ยวได้สัมผัส ซึ่งตนหวังว่าระยะเวลาใน 4 เฟสที่เราร่วมมือร่วมกันพัฒนา และสร้างเสน่ห์ของชุมชนออกมาให้มากที่สุด อีกทั้งตอนนี้น้องๆ นักศึกษาได้มาช่วยทำของที่ระลึกออกมาให้ชุมชน รวมทั้งการเพ้นท์งกำแพง เพื่อทำให้เป็นมุมถ่ายภาพ อย่างที่บอกว่าเรามีความตั้งใจมากว่าจะทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นจุดเช็คอิน แลนด์มาร์ค ของโคราชให้คนมาเที่ยวมาสัมผัสวิถีการเกษตร และชุมชนแบบดั้งเดิมจริงๆ"
แน่นอนว่าความสำเร็จทั้งหมดเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากการขับเคลื่อนที่ต้องการ "เปลี่ยน" อย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับ "ชุมชนโพนสูง" ที่ตอนนี้กำลังจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนได้ด้วยตัวเอง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งของโคราชที่ต้องมาเช็คอิน!!!
เหมือนดั่งประโยคที่กล่าวข้างต้นว่า "เพราะเราเป็นเราเขาจึงมา" ชุมชนเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยความน่ารัก ที่มาพร้อมด้วยเสน่ห์อันเป็นอัตลักษณ์ที่เริ่มจะหายากแล้วในปัจจุบัน ใครที่มาเที่ยวรับรองต้องหลงรักและกลับมาเยือนอีกแน่นอน