กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ศ.ศ.ป. หรือ SACICT สานต่อโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมในวัฒนธรรมร่วม Cross Cultural Crafts 2019 หวังอนุรักษ์ ฟื้นฟู งานหัตถกรรมเครื่องไม้ไม่ให้สูญหาย คัด 12 ครูช่างหัตถกรรมเครื่องไม้ ศึกษาดูงานประเทศญี่ปุ่น และลาว ที่มีมรดกภูมิปัญญางานหัตถกรรมไม้ที่มีเอกลักษณ์และรากฐานทางวัฒนธรรมร่วมกับประเทศไทย ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์พร้อมพัฒนาผลงานสู่ตลาดสากล พบกับ 12 ผลงานสุดยอดครูช่างไทย ในโซน "Cross Cultural Crafts" ภายในงาน "SACICT Craft Trend Show 2019" จัดขึ้น 18-21 มิถุนายน 2562 ชั้น 4 ศูนย์ประชุมวายุยักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า SACICT ได้ตระหนักถึงการ สืบสานและต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมของกลุ่มที่เป็นหัตถกรรมใกล้สูญหาย (Forgotten Heritage) ซึ่งเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตามท้องถิ่นหรือชุมชนในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย และได้รับผลกระทบจากกระแสวัฒนธรรมสมัยใหม่ จึงได้มีแนวทางในการอนุรักษ์ฟื้นฟูงานศิลปหัตถกรรมอันทรงคุณค่าผ่าน "โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมในวัฒนธรรมร่วม Cross Cultural Crafts" โดยการเชื่อมโยงผู้ที่มีทักษะฝีมือสูง และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านดังเช่น กลุ่มครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรมของไทย และผู้ผลิตงานหัตถศิลป์ในภูมิภาคเอเชียเพื่อร่วมพัฒนาศิลปหัตถกรรมที่ใกล้สูญหายเหล่านี้ ให้สืบทอดคงอยู่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมแก่อนุชนรุ่นหลัง
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมในวัฒนธรรมร่วมกว่า 4 ปี ภายใต้แนวคิด "Revival of the Forgotten Heritage" ซึ่ง SACICT ได้ริเริ่มการพัฒนาฟื้นฟูงานหัตถศิลป์ที่ใกล้สูญหายในภูมิภาค อาทิ งานเครื่องรักเครื่องเขิน งานดุนโลหะ งานเครื่องมุก และงานจักสาน ร่วมกับศิลปินในภูมิภาคเอเชียผ่านการสร้างสรรค์ชิ้นงานหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์จากวัฒนธรรมร่วมแล้ว ยังได้สร้างความสัมพันธ์อันดีร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรระหว่างประเทศ ในปี 2562 SACICT มีการนำกลุ่มครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรมของไทยประเภท"งานเครื่องไม้" จำนวน 12 ท่าน ร่วมใน "โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมในวัฒนธรรมร่วม Cross Cultural Crafts 2019" ได้ไปศึกษาดูงานร่วมกับประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีความเชี่ยวชาญงานหัตถกรรมไม้ทั้งในแบบอนุรักษ์และร่วมสมัย ณ ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งทั้งสองประเทศมีมรดกภูมิปัญญางานหัตถกรรมไม้ที่มีเอกลักษณ์และรากฐานทางวัฒนธรรมที่สืบต่อมานาน โดยคาดหวังว่าความสำเร็จจากโครงการฯนี้จะช่วยก่อให้เกิดการสืบสานภูมิปัญญาและพัฒนางานหัตถกรรมไม้ของไทย ซึ่งเป็นหัตถกรรมที่ใกล้สูญหายให้เกิดมีมูลค่าเพิ่มจนสามารถพัฒนาสู่ตลาดสากลได้ต่อไป
"SACICT ได้ทำการคัดสรรช่างฝีมือด้านงานหัตถกรรมไม้จำนวน 12 ท่าน เดินทางไปดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่นจำนวน 6 ท่าน คือ ครูคำจันทร์ ยาโน ประเภทงานแกะสลักไม้ / ครูสุวิทย์ แก้วจันทร์ ประเภทงานกะลามะพร้าว / ครูเพชร วิริยะ ประเภทงานแกะสลักไม้ / ครูสุวรรณ สามสี ประเภทงานแกะสลักช้างจิ๋ว / ครูชาตรี เนื่องจำนง ประเภทงานเรือไม้จำลอง และ ครูซุลฟาการ์ อะตะบู ประเภทงานแกะสลักหัวกริซรามัน
ส่วนอีก 6 ท่านได้เดินทางไปที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คือ ครูบัวเลิศ เฉลิมฤกษ์ ประเภทงานต่อเรือจำลอง / ครูวิเชษฐ์ ชุมดี ประเภทงานแกะสลักไม้เทพทาโร / ครูเสกสรร กาวินชัย ประเภทงานฉลุไม้ / ครูสมบัติ ชิดทิด ประเภทงานแกะสลักไม้ / ครูยรรยง คำยวง ประเภทงานแกะสลักไม้ และครูพิเชฏฐ์ เกิดทรง ประเภทงานแกะสลักเครื่องดนตรีไทย" โดยครูช่างฯและทายาทช่างฯที่ร่วมโครงการฯ ได้ไปศึกษาและแลกเปลี่ยนทักษะและกรรมวิธีการผลิตชิ้นงานหัตถกรรมเครื่องไม้ของช่างฝีมือท้องถิ่นทั้งประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ สามารถนำแนวคิดมาต่อยอด ผสมผสานพัฒนาเป็นชิ้นงานร่วมสมัยออกสู่ตลาดได้ในอนาคต
สำหรับกลุ่มผู้ซื้อ ผู้ประกอบการ นักออกแบบ นิสิตนักศึกษา ผู้ที่รักงานคราฟท์ และ ประชาชนทั่วไป สามารถเข้าร่วมสัมผัสผลงาน 12 ครูช่างด้านหัตถกรรมไม้ของไทย ได้ในโซน "Cross Cultural Crafts" ภายในงาน "SACICT Craft Trend Show 2019" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-21 มิถุนายน 2562 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 2-4 อาคารทรงเหลี่ยม ชั้น 4 ศูนย์ประชุมวายุยักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ตั้งแต่เวลา 09.00 - 18.00 น. และสามารถติดตามข่าวสารผ่านทางเว็บไซต์ www.sacict.or.th และ www.facebook.com/sacict/