กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
รพ.จิตเวชนครราชสีมา เร่งยกระดับบริการสุขภาพจิตในระดับรากหญ้ากว่า 10,000 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 4 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 9 หลังพบผู้ป่วยทางจิตหรือมีปัญหาสุขภาพจิตยังไม่เข้ารักษาถึงร้อยละ 70 เหตุอาจเพราะไม่รู้ตัวว่าป่วยหรืออาย โดยสร้างนักสุขภาพจิตชุมชน เป็นบุคลากรไฮบริด ส่งเสริมป้องกันค้นหาผู้ป่วยในหมู่บ้านและนำผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตเข้าสู่ระบบดูแลรักษาฟื้นฟู โดยองค์การอนามัยโลกระบุผู้มีปัญหาสุขภาพจิต 1 คน ส่งผลกระทบคนปกติได้ถึง 2 คน
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ซึ่งดูแลมาตรฐานระบบบริการสุขภาพจิตแก่ประชาชนในเขตสุขภาพที่ 9 ประกอบด้วย 4 จังหวัดขนาดใหญ่ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ได้เร่งกระจายบริการให้ครอบคลุมถึงระดับรากหญ้าทั้งหมดที่มีจำนวน 10,026 หมู่บ้านชุมชน โดยมีนโยบายเพิ่มขีดความสามารถให้บุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานใน รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล และ รพ.ชุมชน ต่อยอดให้เป็นนักสุขภาพจิตชุมชน เป็นบุคลากรประเภทไฮบริด คล้ายเป็นนักจิตวิทยาด้วย เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งระบบบริการด้านการส่งเสริม ป้องกันปัญหาสุขภาพจิต รวมทั้งการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตให้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาให้หายขาด สามารถดูแลผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตในหมู่บ้านและชุมชนในเบื้องต้นได้ ซึ่งจะอบรมในรุ่นที่ 5 ในเดือนมิถุนายน 2562 นี้จำนวน 40 คน ที่ผ่านมาได้อบรมไปแล้ว 216 คน
ทางด้านแพทย์หญิงอรภา เข็มทอง หัวหน้ากลุ่มงานสนับสนุนและพัฒนาเครือข่าย รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวว่า ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตระดับชาติ ล่าสุดในพ.ศ.2556 พบประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสป่วยทางจิตหรือมีความผิดปกติของพฤติกรรมเสพสารเสพติดใดๆในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิตได้ร้อยละ 30 ซึ่งคาดว่าในเขตสุขภาพที่ 9 น่าจะมีผู้มีปัญหาประมาณ 1.6 ล้านคน จากการติดตามผลการเข้าถึงบริการผู้มีปัญหาทุกกลุ่มโรคในรายงานของกระทรวงสาธารณสุขในปีงบประมาณ 2562 นี้ จนถึงวันที่ 5 มิถุนายน โดยเฉพาะประเภทผู้ป่วยนอก มีรายงานผู้มีปัญหาสุขภาพจิตเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ในเขตสุขภาพที่ 9 จำนวน 370,000 กว่าคน หรือประมาณร้อยละ 30 ของจำนวนที่คาดว่าจะมี ผู้มีปัญหาอีกร้อยละ 70 ยังอยู่ในบ้านและชุมชนไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง สาเหตุอาจเนื่องจากยังไม่รู้ว่าตัวเองมีความผิดปกติ เนื่องจากอาการป่วยทางใจจะไม่ชัดเจนเหมือนโรคทางกาย หรืออาจไม่กล้าพบแพทย์เพราะอาย กลัวคนอื่นว่าเป็นบ้า ซึ่งจะมีผลเสียอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นและส่งผลต่อคนรอบข้างได้ โดยองค์การอนามัยโลกรายงานข้อมูลวิชาการว่า ในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต 1 คน จะส่งผลกระทบกับคนปกติได้ถึง 2 คน จึงต้องเร่งดำเนินการเชิงรุก ให้ประชาชนรู้ปัญหาสุขภาพจิตของตนเองและเข้ารับการรักษาตั้งแต่ต้น จะมีผลดีคือมีโอกาสหายป่วยได้สูง ทำงานหรือทำกิจกรรมได้เป็นปกติ เชื่อว่าหากสามารถจัดการดูแลได้ครบทุกคน จะสามารถป้องกันผู้มีปัญหาสุขภาพจิตได้ถึง 3.2 ล้านคน
แพทย์หญิงอรภากล่าวต่อว่า การอบรมนักสุขภาพจิตชุมชนนั้นจะใช้เวลาเพียง 8 วัน เพื่อไม่ให้กระทบงานบริการ โดยเน้นความรู้เรื่องโรคและอาการป่วยทางจิตที่พบบ่อยในเด็กและผู้ใหญ่และการรักษาในเบื้องต้น เช่นโรคสมาธิสั้น ออทิสติก โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า วิตกกังวล ไบโพลาร์ เป็นต้น การใช้เครื่องมือตรวจประเมินสภาพจิตเช่นความเครียด ซึมเศร้า อาการป่วยทางจิต ติดการพนัน ติดเหล้า เป็นต้น เพื่อคัดกรองหาผู้ที่มีปัญหา นำเข้าสู่ระบบการดูแลอย่างเหมาะสม ให้ความรู้เรื่องยาจิตเวชและการจัดการผลข้างเคียงของยา การจัดบริการดูแลสุขภาพจิตในชุมชน การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยที่มีอาการดีแล้ว การส่งเสริมสุขภาพจิตตามกลุ่มวัย ความรู้และทักษะการให้บริการปรึกษาแก่ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต รวมทั้งเทคนิคการเสริมสร้างแรงจูงใจโดยเฉพาะการเลิกใช้ยาเสพติด การดูแลผู้มีพฤติกรรมรุนแรงในภาวะวิกฤติ การเจราจาต่อรอง การปฐมพยาบาลทางใจ การสร้างเครือข่ายดูแลในชุมชนทั้งในและนอกระบบสาธารณสุข และการส่งต่อผู้ป่วยเข้ารักษาในรพ.ชุมชนหรือรพ.เชี่ยวชาญเฉพาะทาง จนหายขาดหรือดีขึ้น
ทั้งนี้จากการติดตามประเมินผู้ที่ผ่านการอบรมที่ผ่านมา พบว่าสามารถดำเนินการค้นหาผู้ป่วยทางจิตรายใหม่จากหมู่บ้าน ชุมชนใน 4 จังหวัดเข้ารักษาได้มากขึ้น และส่งรักษาต่อที่ รพ.จิตเวช เนื่องจากอาการรุนแรงซับซ้อน เฉลี่ยวันละ 200 กว่าคน โรคที่พบมากที่สุดคือจิตเภท คือมีหูแว่ว ประสาทหลอน มีความผิดปกติทางความคิดและพฤติกรรม พบร้อยละ 33 รองลงมาคือ ซึมเศร้าร้อยละ 16 โรคไบโพลาร์ร้อยละ 8 และโรคทางจิตที่เกิดจากการดื่มเหล้าจัดร้อยละ 3