กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยมหิดล
โลกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน "Mahidol Engineering Maker Expo 2019" งานแสดงสุดยอดผลงานวิจัยนวัตกรรมจากเมคเกอร์คนรุ่นใหม่ โดยมี ผศ.ดร. ธีรพร รับคำอินทร์ รักษาการรองคณบดีฝ่ายการศึกษาและพัฒนาคุณภาพ เป็นประธานเปิดงานและมอบรางวัลชนะเลิศMahidol Engineering Maker Awards แก่ทีมนวัตกรรม "แผ่นไฟเบอร์ปูทางเท้าจากวัสดุรีไซเคิลสำหรับผู้พิการ" และทีมนวัตกรรม "กระชังปลาอัจฉริยะ" ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ท่ามกลางผู้เข้าชมงานคับคั่ง
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ (Jackrit Suthakorn) คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เมคเกอร์คนรุ่นใหม่เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการวิจัยและต่อยอดนวัตกรรมสำหรับการพัฒนาประเทศ การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีของโลกยุคดิจิทัลดิสรัปชั่นเป็นความท้าทายต่อทุกวงการโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่ต้องปรับตัวและเดินไปข้างหน้า สำหรับมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศไทยโดย The Times Higher Education World University Rankings 2019 ในทุกมิติ และเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศไทยในด้านผลงานวิจัยจากการจัดอันดับของ CWTS Leiden Ranking 2019 แห่งเนเธอร์แลนด์นั้น การจัดงาน "Mahidol Engineering Maker Expo 2019" ครั้งนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งเวทีในการช่วยส่งเสริมวิศวกรแห่งอนาคตที่มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อแสดงพลังสร้างสรรค์ของนักศึกษาพันธุ์ใหม่ที่กล้าคิด กล้าทำ สร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคมและธุรกิจอุตสาหกรรม ตลอดจนแนวโน้มของโลก ทั้งเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการต่าง ๆ ได้มาพบเจอเมคเกอร์นักศึกษา และสามารถพูดคุยเพื่อสร้างความร่วมมือกันในการต่อยอดงานวิจัยเชิงพาณิชย์ต่อไป นอกจากจัดแสดงผลงานวิจัยนวัตกรรมกว่า 200 ผลงานแล้ว ภายในงานนี้ยังมีการประกวดผลงานนวัตกรรม "Mahidol Engineering Maker Awards" ซึ่งได้รับเกียรตอจากคณะกรรมการตัดสินจากหลากหลายธุรกิจอุตสาหกรรม โดยมีผลการประกวด 2 ผลงานคว้ารางวัลชนะเลิศ คือ "แผ่นไฟเบอร์ปูทางเท้าจากวัสดุรีไซเคิลสำหรับผู้พิการ" และผลงาน "กระชังปลาอัจฉริยะ"
ส่วนอีก 4 นวัตกรรมที่คว้ารางวัลดีเด่น ได้แก่ "เก้าอี้วิเคราะห์การนั่ง" (Ergonomic Chair with Warming System) "หุ่นยนต์ช่วยพยุงเพื่อผู้สูงวัย" (Robot-Assisted Elderly Carrying System) , "ตู้รีไซเคิลขวดพลาสติกอัตโนมัติและแอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์พกพาเพื่อส่งเสริมการแยกขยะแบบดิจิตอล" (Development of Automatic Plastic Bottle Recycling and Portable Device Application For Digital Waste Separation) และ "ไฮโดรเจลนาโนสำหรับส่งผ่านยา" (Nano-Structured Cellulose-Based Hydrogel)
ผศ.ดร. ธีรพร รับคำอินทร์ (Theeraporn Rubkumin) รักษาการรองคณบดีฝ่ายการศึกษาและพัฒนาคุณภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า 200 สุดยอดผลงานวิจัยนวัตกรรมจากเมคเกอร์คนรุ่นใหม่ในปีนี้ มาจากภาควิชาและกลุ่มสาขา รวมกว่า 20 หลักสูตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับความสนใจจากภาคเอกชน ธุรกิจอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ ศิษย์เก่า รวมทั้งอาจารย์และเยาวชนจากโรงเรียนต่าง ๆ เข้าร่วมกว่า 1,000 คน วัตถุประสงค์การจัดงาน "Mahidol Engineering Maker Expo 2019" เพื่อส่งเสริมสมรรถนะด้านวิจัยและพัฒนาผสานความคิดสร้างสรรค์ของเมคเกอร์คนรุ่นใหม่ ที่จำเป็นต้องก้าวทันเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลง สามารถนำพหุศาสตร์หลายสาขาและเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ ส่งเสริมทักษะ Design Thinking การคิดวิเคราะห์ ออกแบบและแก้ปัญหา ผสาน Soft Skill การทำงานเป็นทีม การสื่อสาร แสดงผลงานและผลักดันนวัตกรรมสู่การใช้งานจริง ตลอดจนเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาก่อนออกไปใช้ชีวิตในโลกธุรกิจการทำงาน
นอกจากนี้งาน "Mahidol Engineering Maker Expo 2019" ยังเป็นการเตรียมพร้อมการยกระดับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สู่สากลในการรับการตรวจประเมินจากคณะกรรมการ Accreditation Board for Engineering and Technology (ABET) ให้ผ่านการรับรองต่อไป ซึ่งคณะกรรมการมีกำหนดจะเดินทางมาประเทศไทยในช่วงกลางปี 2562 นี้