กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
"สหกรณ์ที่นี่เป็นสหกรณ์แบบบ้าน ๆ เราบริหารตามหลักการของสหกรณ์และปรับใช้ให้เป็นไปตามวิถีชีวิต ตามบริบทของคนในชุมชนซึ่งเป็นสังคมเกษตร การช่วยเหลือคนในชุมชน โดยให้เงินกู้ ให้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ชาวบ้านได้มีทุนไปประกอบอาชีพหรือใช้จ่ายในครอบครัว เราไม่ได้เอาเงินเป็นที่ตั้ง เรารวมคนก่อนแล้วเงินจะตามมาเอง" คุณบัญญัติ เลิศอาส ประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนโพธิ์ลอยพัฒนา จำกัด อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ให้นิยามสั้น ๆ สำหรับความเป็นสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนโพธิ์ลอยพัฒนา จำกัด ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2562 และได้เข้ารับโล่พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา
ย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของสหกรณ์แห่งนี้ตั้งแต่ปี 2524 มีการประชุมกลุ่มชาวบ้านในอำเภอบ้านลาดเพื่อเผยแพร่แนวคิดของเครดิตยูเนี่ยน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหม่ของคนในยุคสมัยนั้น และต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าทุกคนจะเข้าใจและ เห็นถึงประโยชน์ของการตั้งสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนขึ้นในชุมชน ไม่ใช่แค่การส่งเสริมการออม หรือให้เงินกู้ แต่ผลกำไรที่เกิดจากการบริหารเงินของชาวบ้าน ยังนำมาจัดสวัสดิการให้ตั้งแต่เกิดจนตาย และส่วนหนึ่งจัดสรรไว้สำหรับการส่งเสริมอาชีพให้กับสมาชิก ทุกฝ่ายจึงเห็นต้องตรงกัน จัดตั้งสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนโพธิ์ลอยพัฒนา จำกัดขึ้น เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2529 ด้วยสมาชิกแรกตั้ง 43 ราย และขยายเปิดรับสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันมีสมาชิก 3,279 ราย ซึ่งความเข้มแข็งของสหกรณ์ ต้องเริ่มจากการคัดเลือกคนเข้ามาเป็นสมาชิก ซึ่งก่อนที่ชาวบ้านจะมาสมัครเป็นสมาชิก ต้องผ่านการอบรมความรู้เกี่ยวกับหลักวิธีการสหกรณ์อย่างเข้มข้น เพื่อปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกของการเป็นสมาชิกสหกรณ์ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจและกิจกรรมต่าง ๆ กับสหกรณ์ ส่งผลทำให้การดำเนินงานมีความมั่นคงและปริมาณธุรกิจเพิ่มขึ้น จนในปัจจุบันสหกรณ์แห่งนี้มีปริมาณธุรกิจมากกว่า 370 ล้านบาท มีเงินรับฝากจากสมาชิก 147 ล้านบาท และไม่ต้องพึ่งแหล่งเงินทุนภายนอกในการดำเนินธุรกิจ สหกรณ์จะใช้ทุนของตัวเอง โดยทำโครงการระดมหุ้นและระดมเงินฝากทุกปี ในช่วงวันครบรอบก่อตั้งสหกรณ์ และให้ของขวัญเป็นแรงจูงใจ ทำให้ทุนของสหกรณ์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 30 ล้านบาท
แต่ละเดือนสหกรณ์จะออกหน่วยสัญจรพบปะสมาชิกทุกกลุ่ม เพื่อพูดคุย รับฟังปัญหาข้อเสนอแนะและความต้องการจากสมาชิก รวมถึงชี้แจงเกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับ และกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อขอความร่วมมือจากสมาชิก ซึ่งคณะกรรมการสหกรณ์จะรู้จักสมาชิกทุกหลังคาเรือน และลงไปดูแลสมาชิกอย่างทั่วถึง ทำให้เกิดความใกล้ชิดระหว่างสหกรณ์กับสมาชิก ซึ่งสมาชิกกว่า 80 % เป็นเกษตรกร มีอาชีพทำนาทำสวน สหกรณ์จึงได้หาวิธีช่วยลดต้นทุนการผลิตให้สมาชิก โดยประสานกับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรีจัดตั้งธนาคารพันธุ์ข้าวขึ้นในหมู่บ้าน และให้สินเชื่อแก่สมาชิกไปซื้อพันธุ์ข้าวจากธนาคารเพื่อนำมาผลิตเป็นพันธุ์ข้าวต่อโดยวิธีเกษตรอินทรีย์ และเมื่อได้เมล็ดพันธุ์ข้าวรุ่นใหม่แล้วก็ขายคืนให้ธนาคารพันธุ์ข้าวในราคาตันละ 13,000 บาท ซึ่งเป็นทางธนาคารพันธุ์ข้าวได้ประกันราคาไว้ให้ เพื่อช่วยให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีโครงการส่งเสริมอาชีพเสริมรายได้ให้สมาชิกตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเดิมเป็นโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคขุนเพียงอย่างเดียวต่อมาได้เพิ่มเติมเป็นการเลี้ยงสุกร ไก่ เป็ด และรวมเป็นกลุ่มอาชีพทำขนมทองม้วนและน้ำตาลโตนด ในรูปแบบอุตสาหกรรมระดับครัวเรือน จนกลายเป็นสินค้าส่งออกของชุมชนที่ได้รับความนิยมในขณะนี้ ทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นจากอาชีพหลัก สามารถใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มีเงินชำระหนี้คืนสหกรณ์ได้ตรงตามกำหนด และไม่ต้องไปเป็นหนี้นอกระบบ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ความสำเร็จของสหกรณ์ในวันนี้ เกิดจากความสามัคคีของหมู่มวลสมาชิก และคณะกรรมการที่มีความเข้มแข็ง เสียสละ มีความซื่อสัตย์และโปร่งใส ซึ่งการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสหกรณ์กับสมาชิกและคนในชุมชน ส่งผลให้การดำเนินงาน ของสหกรร์ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา มีความมั่นคงทางการเงิน มีทุนสำรองและผลกำไรเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งกำไรกว่า 80% ได้ถูกจัดสรรเป็นเงินปันผล และเฉลี่ยคืนให้สมาชิกตามสัดส่วนที่ทำธุรกิจกับสหกรณ์ และส่วนหนึ่งนำไปจัดเป็นสวัสดิการที่หลากหลาย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของสมาชิกและครอบครัว เช่น ให้ค่ารักษาพยาบาลเมื่อสมาชิกเจ็บป่วย มอบเงินให้บุตรสมาชิกแรกเกิด สร้างบ้านหลังแรก เงินสวัสดิการให้สมาชิกผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ สหกรณ์ยังได้เผื่อแผ่และมีความเอื้ออาทรต่อชุมชน โดยสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ เทศกาลสงกรานต์ประเพณีทอดกฐิน มอบทุนการศึกษาให้โรงเรียน วัด ชุมชน สมทบกองทุนโรงเรียนในพื้นที่อำเภอบ้านลาด ร่วมบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนด้านกีฬาภายในอำเภอบ้านลาด และจังหวัดเพชรบุรี บริจาคโลหิตเนื่องในวันสหกรณ์แห่งชาติเป็นประจำทุกปี ช่วยเหลือภัยพิบัติเพื่อสหกรณ์ร่วมกับชุมนุมสหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยนสาขาจังหวัดเพชรบุรี บริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในจังหวัดเพชรบุรี และร่วมบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการจัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างศูนย์เด็กเล็กของ อบต.ท่าช้าง อำเภอบ้านลาด และยังมีกิจกรรมรณรงค์สมาชิกให้เห็นความสำคัญของการ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยจัดกิจกรรมปลูกป่าและสร้างฝายชะลอน้ำ กิจกรรมคัดแยกขยะ ลดใช้สารเคมี และสนับสนุนให้สมาชิกใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ร่วมกันขุดลอกคูคลองและทำความสะอาดพื้นที่ในหมู่บ้านในวันสำคัญ
ความเข้มแข็งทางการเงิน ไม่ได้นำมาแค่คุณภาพชีวิตที่ดีของสมาชิกของสหกรณ์เท่านั้น แต่สหกรณ์ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างความสุขและความรักความสามัคคีให้กับคนในชุมชนด้วย สำหรับแผนในอนาคตข้างหน้า สหกรณ์จะสนับสนุนให้ คนรุ่นใหม่เข้ามาสานต่องานสหกรณ์ เริ่มจากการประสานกับโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง 4 แห่ง จัดอบรมนักเรียนตั้งแต่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 ให้มีความรู้เกี่ยวกับหลักวิธีการสหกรณ์ เป็นการเตรียมพร้อมเยาวชนสู่การเป็นสมาชิกสหกรณ์ที่ดี ในอนาคต และเข้ามาช่วยพัฒนาสหกรณ์ให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อจากคนในยุคปัจจุบัน เพื่อให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนโพธิ์ลอยพัฒนา จำกัด สามารถยืดหยัดและทำหน้าที่เป็นองค์กรทางการเงินของชุมชนอย่างเข้มแข็งต่อไป