กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--วีม คอมมูนิเคชั่น
ดีป้า ร่วมกับ พอช. เปิดตัว "โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเล" สนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบงใช้ "โดรน" อนุรักษ์ฝูงพะยูนและทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อพัฒนาชุมชน (depa Digital Transformation Fund for Community)
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) หรือ พอช. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดโครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โดยมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อพัฒนาชุมชน ระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยมี นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และ นายไมตรี อินทุสุต ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ร่วมเป็นสักขีพยาน
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมให้ชุมชนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล โดยสนับสนุนให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบง นำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน มาประยุกต์ติดกล้อง บินสำรวจตำแหน่งและจำนวนของฝูงพะยูนเพื่อตรวจสอบจำนวนและวางแผนอนุรักษ์ แทนการใช้เรือประมงออกตระเวนหาจุดที่พะยูนอาศัย ซึ่งวิธีการเดิมนั้นไม่มีความแม่นยำและสิ้นเปลืองพลังงานมาก
นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำแนวทางการใช้โดรนบินเก็บภาพพะยูน ก่อนส่งสัญญาณภาพกลับมายังชมรมการท่องเที่ยวและอนุรักษ์เกาะลิบง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เห็นฝูงพะยูนผ่านหน้าจอโปรเจคเตอร์แบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยสร้างความตื่นเต้นและเรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยว รวมถึงอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่ไม่สะดวกขึ้น-ลงเรือ อาทิ ผู้สูงอายุ หรือคนพิการ ที่ต้องการชมพะยูนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยเฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมายอีกด้วย
"นี่จึงนับว่าเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวชุมชนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งดีป้ามีความตั้งใจที่จะผลักดันให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในระดับชุมชน โดยให้สอดคล้องกับสิ่งที่ชุมชนมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตของคนในชุมชน ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนไปพร้อมกัน" ดร.ณัฐพล กล่าว
ด้าน นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) หรือ พอช. กล่าวว่า พอช.ต้องการที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อชุมชนในด้านต่าง ๆ อาทิ การประสานงานและอำนวยให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลแก่องค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชน รวมถึงภาคประชาสังคม เสนอพื้นที่เป้าหมายที่มีศักยภาพและความพร้อม ก่อนหนุนเสริมการพัฒนาศักยภาพของพื้นที่เป้าหมาย เพื่อให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล อีกทั้งติดตามและสนับสนุนการนำใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนจากดีป้า เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นตามเป้าหมายและผลลัพธ์ที่กำหนดไว้
ขณะที่ นายอิสมาแอน เบ็ญสอาด ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบง กล่าวว่า เกาะลิบงเป็นแหล่งอยู่อาศัยของพะยูนแหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากมีหญ้าทะเลที่เป็นอาหารของพะยูนอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ราว 20,000 ไร่ มีพะยูนอาศัยอยู่ประมาณ 170-180ตัว แต่ที่ผ่านมามีเรือประมงต่างถิ่นลักลอบเข้ามาทำประมงผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการลักลอบจับพะยูน ซึ่งส่งผลให้หญ้าทะเลถูกทำลาย รวมไปถึงการลักลอบตัดไม้บนเกาะ
"เราจะใช้โดรนขึ้นบินสำรวจพื้นที่ที่อาจมีเรือประมงลักลอบเข้ามาจับพะยูน หรือตัดไม้บนเกาะ นอกจากนี้จะใช้โดรนบินถ่ายภาพฝูงพะยูน และต่อสัญญาณภาพมาที่จอโปรเจคเตอร์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ดู โดยไม่ต้องนั่งเรือลงไปดูใกล้ ๆ เพราะเป็นการรบกวนพะยูน และอาจทำให้พะยูนได้รับอันตราย เพราะที่ผ่านมาเคยมีเรือ สปีดโบ๊ทชนพะยูนตาย" ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ กล่าว
สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบงได้รับงบประมาณสนับสนุนในการจัดซื้อโดรน 1 เครื่อง รวมทั้งการบริหารจัดการเพื่อให้โครงการมีความยั่งยืน ตลอดจนการฝึกอบรมการใช้โดรน ซึ่งจะเริ่มภายในเดือนมิถุนายน - กรกฎาคมนี้
นอกจากโครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเลที่เกาะลิบงแล้ว ยังมีโครงการที่ผ่านการอนุมัติจากดีป้าอีก 2 โครงการ คือ การใช้ภาพถ่ายและวิดีโอภาพเสมือนจริง (Virtual Reality) เพื่อการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม และโครงการเทคโนโลยีการพ่นสารน้ำทางการเกษตรด้วยอากาศยานไร้คนขับ ตำบลคลองหินปูน อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว