กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์
หัวใจของการพัฒนา "เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก" หรือ "EECi" ณ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง คือการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมสมบูรณ์แบบ ซึ่งจะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่มีความเข้มข้นสูงด้านงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม การจะบรรลุเป้าหมายนี้ นอกจากจะต้องส่งเสริมเรื่องโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อรองรับการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในอนาคตแล้ว การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ ให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ก็เป็นอีกภารกิจที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หน่วยงานหลักที่ดูแลการพัฒนา EECi มองว่ามีความสำคัญยิ่งยวดไม่แพ้กัน และพยายามผลักดันมาตลอดผ่านโครงการที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจจำนวนมาก
โครงการ 2P Safety Tech (Patient and Personal Safety Technology Awards) หรือโครงการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรในโรงพยาบาล เป็นตัวอย่างหนึ่งของโครงการดีๆ ที่ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. ร่วมกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. สถาบันที่ทำงานในการขับเคลื่อนระบบริการสุขภาพด้วยการประเมินรับรองคุณภาพสถานพยาบาลและพัฒนากลไกต่างๆ รวมถึงการสร้างความร่วมมือ เพื่อให้เกิดคุณภาพและความปลอดภัยในสถานพยาบาลและระบบบริการสุขภาพ ที่ได้ริเริ่มโครงการขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถนำมาใช้ทำงานได้จริง ในการแก้ไขปัญหาและป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยและผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล เป็นการนำร่องสู่การสร้างโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) ในประเทศไทย โดยเริ่มเปิดโครงการมาตั้งแต่ปี 2561 และมีโรงพยาบาลทั่วประเทศที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 18 แห่ง พร้อมด้วยบริษัทเทคโนโลยีการแพทย์ 12 แห่ง สามารถพัฒนานวัตกรรมต้นแบบได้รวม 15 ผลงาน
นายเฉลิมพล ตู้จินดา รักษาการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. เล่าถึงแนวคิดของโครงการ 2P Safety Tech ว่าเป็นการประสานพลังระหว่างโรงพยาบาล ผู้ประกอบการนักพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ (HealthTech) และสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยให้ระบบงานบริการในโรงพยาบาลสะดวกและง่ายขึ้น ทำให้ความเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยลดลง เช่น ปัญหาผู้ป่วยพลัดตกเตียง สื่อสารไม่ได้ หรือได้รับบริการไม่ทันท่วงที ไม่สอดคล้องกับระดับความรุนแรงของอาการเจ็บป่วย ขณะเดียวกันยังช่วยสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีปัญหาไม่เพียงพอกับการดูแลผู้ป่วย ซึ่งเทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยลดปัญหาเหล่านี้ในเบื้องต้นได้
โครงการ 2P Safety Tech เปิดโอกาสให้โรงพยาบาลที่มีปัญหาความเสี่ยงเหล่านี้เขียนโครงการเข้ามาสมัคร จากนั้นทางโครงการฯจะนำมาคัดเลือกและจับคู่กับผู้ประกอบการด้าน HealthTech ที่อยู่ในความดูแลของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. ที่มีเทคโนโลยีใกล้เคียงกัน ช่วยคิดวิเคราะห์พัฒนานวัตกรรมต้นแบบที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทปัญหาของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง โดยมีศูนย์บ่มเพาะฯ เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีและการออกแบบโมเดลธุรกิจ พร้อมให้ทุนสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ทีมละ 100,000 บาท แต่มีเงื่อนไขสำคัญคือ โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการจะต้องมีความพร้อมในการนำนวัตกรรมไปใช้งานจริงเมื่อผลงานเสร็จสมบูรณ์
"ข้อดีของโครงการนี้คือ โซลูชันที่ได้ถูกออกแบบและพัฒนาโดยคนทำงานที่มีปัญหาจริง ทั้งยังนำมาทดสอบในโรงพยาบาล ทำให้ตอบโจทย์ความต้องการและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ หากประสบผลสำเร็จด้วยดียังสามารถต่อยอดขยายผลไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ได้โดยมีต้นทุนต่ำ ด้านบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีก็สามารถนำผลงานออกจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้อีกด้วย ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้โรงพยาบาลเหล่านี้ก้าวสู่การเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะในอนาคต" นายเฉลิมพล กล่าว
สำหรับในพื้นที่ EECi โรงพยาบาลระยองเป็นตัวอย่างผู้เข้าร่วมของโครงการ 2P Safety Tech ที่ประสบความสำเร็จมากในการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนและโรงงานท้องถิ่น ด้วยการพัฒนาระบบระบุตัวตนผู้ป่วยแผนกฉุกเฉิน ช่วยให้สามารถส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาพยาบาลได้อย่างทันท่วงที ขณะที่แพทย์และพยาบาลก็ทำงานได้ถูกต้องปลอดภัย
นพ.สมบูรณ์ มะลิขาว รองผู้อำนวยการฝ่ายคุณภาพและมาตรฐาน และหัวหน้าศูนย์พัฒนาคุณภาพ โรงพยาบาลระยอง ระบุว่า การระบุตัวตนผู้ป่วยให้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มแรกเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เพื่อจะได้ทราบถึงสาเหตุและอาการเจ็บป่วย ประวัติการแพ้ยา โรคประจำตัว ไปจนถึงสิทธิ์ในรักษาพยาบาล แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นทันทีหากผู้ป่วยหมดสติ ไม่มีหลักฐานติดตัว หรือไม่มีญาติมาด้วย ทำให้การรักษามีความยุ่งยากและอาจเกิดข้อผิดพลาดได้ เช่น ให้ยาไม่เหมาะสมกับผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคหัวใจ ปัญหาการส่งศพหรือทารกผิด
ทั้งนี้ นวัตกรรมที่รพ.ระยองได้ร่วมมือกับบริษัทเอกชนพัฒนาขึ้นเป็นริสแบนด์สวมข้อมือ ที่มีการฝังไมโครชิปบรรจุข้อมูลที่จำเป็นของผู้ป่วยเอาไว้ เช่น ชื่อนามสกุล ภาพใบหน้าของผู้ป่วย เลขประจำตัว 13 หลัก กรุ๊ปเลือด โรคประจำตัวที่ไม่เป็นความลับ ประวัติการแพ้ยา ฯลฯ เมื่อนำไปสแกนด้วยเครื่องอ่านที่ใช้งานร่วมกับมือถือระบบแอนดรอยด์ แพทย์และพยาบาลจะทราบข้อมูลในเบื้องต้นเกี่ยวกับผู้ป่วยได้ทันทีแบบเรียลไทม์ และทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง ยิ่งเป็นผู้ป่วยในพื้นที่ที่เคยมีประวัติรักษากับทางโรงพยาบาลมาก่อน ก็ยังสามารถเชื่อมโยงเข้ากับฐานข้อมูลหลักของโรงพยาบาลได้ทันที นอกจากนั้นยังช่วยป้องกันปัญหาการสวมสิทธิ์ใช้บัตรของผู้อื่นที่มีหน้าตาคล้ายคลึงกันได้อีกด้วย
ขณะเดียวกัน แพทย์และพยาบาลยังสามารถอัพเดตข้อมูลการรักษาใหม่ๆ ลงไป หรือมอนิเตอร์สถานะผู้ป่วยได้ว่า คนไข้ดังกล่าวได้รับยาหรือทำหัตถการใดไปแล้วบ้าง ซึ่งนวัตกรรมนี้ไม่เพียงเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยและบุคลากรในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลสถิติรายงานปัญหาด้านสาธารณสุขในพื้นที่ได้อีกด้วย เช่น การเฝ้าระวังโรคระบาด แนวโน้มอุบัติเหตุจราจร ช่วยให้ภาครัฐวางแผนรับมือได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นพ.สมบูรณ์ ทิ้งท้ายว่า นวัตกรรมนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน หากผ่านการพิจารณา ก็จะเริ่มนำมาทดลองใช้กับแผนกฉุกเฉินก่อนในเบื้องต้น แล้วจึงขยายไปยังหอผู้ป่วย ห้องยา และแผนกเอ็กซ์เรย์ต่อไป โดยริสแบนด์ 1 เส้นสามารถล้างข้อมูลแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ประมาณ 2 แสนครั้ง มีอายุใช้งานราว 2 ปี
ไม่แน่ว่าในอนาคตต่อไป ประเทศไทยอาจไปไกลถึงขั้นระบุตัวตนผู้ป่วยได้ทันทีด้วยระบบสแกนใบหน้า ลายนิ้วมือ หรือดีเอ็นเอเลยทีเดียว เรียกได้ว่าเป็นการนำร่องโรงพยาบาล Smart Hospital ที่น่าสนใจไม่น้อยที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นได้อย่างแน่นอน