กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--ตลท.
คณะอนุกรรมการสรรหาฯ และทีมงานการตลาด ตลท.และ mai เดินแผนสนับสนุนการเตรียมความพร้อมของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน เพื่อให้สามารถซื้อขายได้ทันภายในปี 2551 ซึ่งจะทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่อเนื่อง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2552 — 2554 รวมทั้งจะทำงานกับที่ปรึกษาทางการเงินอย่างใกล้ชิด เตรียมจัด IPO Focus เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและสร้างความสัมพันธ์อันดี
นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสรรหาบริษัทจดทะเบียน เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการสรรหาฯ และทีมงานการตลาดของตลาด หลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้กำหนดกลยุทธ์ที่จะสนับสนุนให้บริษัทที่ยื่นคำขอไว้ในเบื้องต้นในปี 2550 สามารถเข้าจดทะเบียนและซื้อขายได้ทันภายในปี 2551 ซึ่งจะทำให้บริษัทได้รับสิทธิประโยชน์ในการ เสียภาษีนิติบุคคลลดลงร้อยละ 5 กรณีจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และลดลงร้อยละ 10 กรณีจดทะเบียนใน mai
“ในปี 2550 ที่ผ่านมา บริษัทที่สนใจเข้าจดทะเบียนไว้ในเบื้องต้น มีบริษัทส่วนหนึ่งยังเป็นบริษัทจำกัด ดังนั้น คณะอนุกรรมการสรรหาฯ จะเร่งผลักดันให้บริษัทแปลงสภาพจากบริษัทจำกัดเป็นบริษัทมหาชน โดยจะให้น้ำหนักกับบริษัทที่มีความเป็นไปได้ในการเข้าจดทะเบียนก่อน นอกจากนี้ จะเร่งผลักดันให้ภาครัฐสนับสนุนให้ภาคธุรกิจ ได้ใช้ประโยชน์จากตลาดทุนมากขึ้นเพื่อการพัฒนาตลาดทุนในระยะยาว นอกจากนี้ จะเน้นทำความเข้าใจถึงประโยชน์ของการเข้าจดทะเบียน ที่เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มกับบริษัท ผู้ถือหุ้น พนักงาน และผู้เกี่ยวข้องกับบริษัทในระยะยาว เนื่องจากการมีแหล่งเงินทุนที่เอื้อต่อการขยายกิจการของบริษัทที่มีต้นทุนต่ำ และยังสร้างคุณค่าและภาพลักษณ์ที่ดี” นายปกรณ์กล่าว
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประสานงานอย่างใกล้ชิด กับทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ปรึกษาทางการเงิน รวมทั้งบริษัทที่ยื่นคำขอ รวมทั้ง จะจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความเข้าใจและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้ง สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบริษัทที่ยื่นคำขอ ที่ปรึกษาทางการเงิน และตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย
สำหรับปี 2550 ถือได้ว่ามีที่ปรึกษาทางการเงินเข้ามามีส่วนร่วมในการยื่นข้อมูลของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนสูงถึง 34 บริษัท การทำงานกับที่ปรึกษาทางการเงินอย่างใกล้ชิด จะมีส่วนช่วยให้บริษัทที่อยู่ระหว่างเตรียมการ ได้รับข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนในการเข้าจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง
นายปกรณ์กล่าวด้วยว่า “ในระยะที่ผ่านมา บริษัทที่มีความพร้อม จะสามารถเข้าซื้อขายได้ภายใน 60 วันโดยเฉลี่ย หลังจากวันที่ยื่นคำขอเข้าจดทะเบียนโดยมีเอกสารข้อมูลครบถ้วนต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนั้น หากบริษัทมีการเตรียมความพร้อมที่ดี ก็จะทำให้บริษัทสามารถเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเข้าจดทะเบียนได้ ทั้งนี้ การมีบริษัท เข้าจดทะเบียนกระจายไปในระหว่างปี ไม่กระจุกตัวในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง นับเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสามารถกระจายเงินลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีกับตัวบริษัทเอง”
สำหรับขั้นตอนที่บริษัทที่ยื่นคำขอไว้แล้วจะต้องดำเนินการต่อไป กรณีที่เป็นบริษัทมหาชนแล้ว คือการยื่นคำขอไปยัง ก.ล.ต. หลังจากก.ล.ต. อนุมัติ จึงดำเนินการขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) และยื่นคำขอเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะจัดกิจกรรมเสริม โดยใช้ชื่อโครงการ IPO Focus เพื่อให้มีช่องทางในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับบริษัทที่ยื่นคำขอเข้าจดทะเบียน และเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการระดมทุนผ่านตลาดทุนกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนโดยตรง รวมทั้ง นำเสนอแนวทางในการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าจดทะเบียนด้วย
นอกจากนี้ จะมีการเชิญชวนให้กรรมการของบริษัทเข้ารับการอบรมหลักสูตร Director Accreditation Program หรือ DAP เพื่อให้กรรมการบริษัทมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานในหลักการของการกำกับดูแลกิจการที่ดี และกฎเกณฑ์ กฎระเบียบ ตลอดจนบทบาทและหน้าที่ของกรรมการบริษัทในการนำการกำกับดูแลกิจการที่ดีไปปฏิบัติ
ในวันที่ 25 ก.พ. 2551 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับ ก.ล.ต. จะเชิญที่ปรึกษาทางการเงิน มาประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการประเมินการปฏิบัติงานของที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อให้ที่ปรึกษาทางการเงินมีความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่ และพร้อมที่จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษากับบริษัทที่ยื่นคำขอเข้าจดทะเบียนที่จะเข้าจดทะเบียนในปีนี้ด้วย