กรุงเทพฯ--17 มิ.ย.--กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวภายหลังจากพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ระหว่าง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. เมื่อวันจันทร์ ที่ 17 มิถุนายน 2562 ณ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งบันทึกข้อตกลงฯดังกล่าว เป็นการแสดงถึงความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานในการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการผลักดันและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในประเทศไทย โดย สวทช. จะสนับสนุน
การดำเนินการจัดทำบัญชีประชาชาติด้านการท่องเที่ยวที่รวมต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม (Tourism Satellite Account-System of Environmental Economic Accounting: TSA-SEEA) ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวที่สำคัญ มีการจัดทำกรอบการวิจัยด้านทรัพยากรชีวภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนในเรื่องขีดความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity) ของแหล่งท่องเที่ยว 3 แบบ ได้แก่ ภูเขา ทะเล และวัฒนธรรม รวมทั้งนำร่องระบบรับรองมาตรฐานท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินการร่วมกันระหว่างสองหน่วยงานภายใต้ปีงบประมาณ 2561 – 2564 โดยจะเป็นประโยชน์ต่อกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการพัฒนาต่อยอดและการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ สวทช. ก็จะสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มค่า Green GDP ในภาคการท่องเที่ยวของประเทศ และสนับสนุนฐานข้อมูลและส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อบริการแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในระยะต่อไป
ทั้งนี้ สวทช. มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งจะสามารถสนับสนุนและ ต่อยอดการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ได้เป็นอย่างดี และมีฐานข้อมูลที่สำคัญจากการศึกษาวิจัยและการพัฒนาในด้านชีวภาพและสิ่งแวดล้อมที่จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความเชื่อมโยงบนเทคโนโลยีสารสนเทศของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาทั้งในส่วนของ Tourism Intelligence Center (TIC) และ Thailand Tourism Directory ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เป็นอย่างดี
ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สวทช. ในฐานะหน่วยงานที่ขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาของประเทศ โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาช่วยตอบโจทย์ความต้องการของประเทศทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและบริการ โดยในช่วงที่ผ่านมา สวทช. ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและสถาบันการศึกษา และเอกชน ขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วย วทน. ในหลายๆ มิติ เช่น การทำบัญชีต้นทุนเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกย่อๆ ว่า Green GDP ของภาคเกษตรและอุตสาหกรรม สำหรับภาคการท่องเที่ยวและบริการ ได้เน้นเรื่อง เศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ซึ่งเป็นการศึกษาครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะลทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงการให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
"สวทช. ได้ศึกษาเรื่อง Green GDP ของการท่องเที่ยวในจังหวัดที่สำคัญ โดยทำโครงการนำร่องที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งผลการศึกษาจะทำให้ทราบว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจ (หรือ GDP) ของภาคการท่องเที่ยว กับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีความสมดุลหรือเหมาะสมกับพื้นที่ท่องเที่ยวนั้นหรือไม่ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals; SDGs) และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในประเด็นเชิงพื้นที่ สวทช. ได้ร่วมดำเนินการโครงการภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ (หรือ smart city) ความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่หาดเจ้าไหม จ.ตรัง อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geopark) ที่จ.สตูล การวางเซ็นเซอร์ติดตามสภาวะแวดล้อม เพื่อศึกษาปรากฎการณ์ต่างๆ เช่น ปะการังฟอกขาวใต้ทะเล ตัวพะยูน เหยี่ยวหายาก เป็นต้น"
ดร.ณรงค์ กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ สวทช. และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในระยะเริ่มต้นจะมีความร่วมมือศึกษาวิจัย ในการผลักดันและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในประเทศไทย อย่างน้อยใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1. การดำเนินการจัดทำบัญชีประชาชาติด้านการท่องเที่ยวที่รวมต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม (Tourism Satellite Account-System of Environmental Economic Accounting: TSA-SEEA หรือ Green GDP) ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาคการท่องเที่ยว (SDG 12.b) ภายใต้การรับรองโดยองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UN-World Tourism Organization หรือ UNWTO) 2. การจัดทำ National Guideline ด้านขีดความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity) ของแหล่งท่องเที่ยว 3 ประเภทสำคัญ ได้แก่ ภูเขา ทะเล และ ประวัติศาสตร์/วัฒนธรรม และ 3. การจัดทำระบบรับรองมาตรฐานท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะที่รับรองโดยสภาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council: GSTC) เพื่อร่วมมือส่งเสริมและสนับสนุน การขับเคลื่อน การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของประเทศ ด้วย วทน. ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนทั่วไป สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป