กรุงเทพฯ--17 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ชี้โอกาสการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมกำลังเป็นสิ่งที่น่าจับตาโดยเฉพาะในกลุ่มนวัตกรรมสำหรับการแก้ปัญหาที่เกิดจากการขยายตัวของสังคมเมือง พร้อมโชว์ความสำเร็จการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมในย่านรัตนโกสินทร์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในย่านที่มีศักยภาพ และความโดดเด่นในการพัฒนากลุ่มธุรกิจทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ ได้แก่ Trawell PASS (ทราเวล พาส):แพลตฟอร์มนำเที่ยววิถีชุมชน ที่ช่วยแนะนำย่าน ชุมชน ร้านค้าสร้างสรรค์ตอบโจทย์ให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ด้วยตนเอง และMuV: รถตุ๊กตุ๊กคนเมืองพลังงานไฟฟ้า ยานพาหนะที่จะช่วยเปลี่ยนเมืองกรุงให้เป็นเมืองกรีน
ดร. สุภาพ อัจฉริยศรีพงศ์ กรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า "นวัตกรรมเพื่อสังคมในบริบทของ NIA คือ การประยุกต์ใช้ความคิดใหม่และเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการยกระดับคุณภาพชีวิต ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่ความเท่าเทียมกันในสังคม และสามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยที่ผ่านมา NIA ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไกการสนับสนุนใน 4 ขั้นตอน ได้แก่ การริเริ่มโครงการ การบ่มเพาะโครงการ การดำเนินโครงการนำร่อง และการขยายผลโครงการ โดยมีการพิจารณาภายใต้เกณฑ์ความเป็นนวัตกรรม ไตรกำไรสุทธิ (คน สิ่งแวดล้อม ธุรกิจ) และความยั่งยืนของโครงการ ซึ่งที่ผ่านมา 3 ปี มีการสนับสนุนโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมไปแล้วกว่า 140 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการสนับสนุนรวมกว่า146 ล้านบาท ก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนรวม 860 ล้านบาท"
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า "การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมของNIA แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ โครงการนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ที่มีผลกระทบสูง โดยเป็นโครงการที่ NIA ริเริ่มและกำหนดโจทย์ในการพัฒนาขึ้นเพื่อมุ่งให้เกิดการขับเคลื่อนโครงการที่มีผลกระทบเชิงสังคมสูง ภายใต้ในวงเงินไม่เกินโครงการละ 1.5 ล้านบาท ผ่าน 2 โครงการหลัก คือ 1) โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Village) ที่เน้นแก้ไขปัญหาจากชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย โดยอาศัยรูปแบบกลไกการขยายผลนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Diffusion) ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาด้านสังคมปัญหาใดปัญหาหนึ่ง ด้วยนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ ที่มีการพัฒนาต้นแบบหรือโมเดลที่สำเร็จแล้ว ให้สามารถกระจายสู่ชุมชน หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นให้เกิดการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในจังหวัดยากจนของประเทศ หรือพื้นที่เป้าหมายนำร่อง และ 2) โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน (City & Community Innovation Challenge) ที่สามารถผลักดันไปสู่การใช้งานจริง เพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นท้าทายที่เกิดขึ้นในสังคมเมืองและชุมชน โดยเปิดรับข้อเสนอแนวคิดการพัฒนาในหลากหลายมิติ จากนั้นจะมีการตัดสินแนวคิดที่ดีและมีโอกาสในการขยายผล ซึ่งองค์กรที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับเงินสนับสนุนเพื่อนำไปดำเนินการจริงในพื้นที่ เพื่อให้ได้ข้อสรุปและข้อเสนอแนะในการขยายผลแนวคิด เทคโนโลยี โอกาสทางสังคมและธุรกิจไปยังพื้นที่อื่นต่อไป โดยในปีนี้มี 3 หัวข้อ ได้แก่ นวัตกรรมการจัดการภัยพิบัติ นวัตกรรมการบริการสาธารณะ และการยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มเปราะบาง"
อีกกลุ่มหนึ่งก็คือ โครงการนวัตกรรมแบบเปิด จะให้ความสำคัญต่อประเด็นการพัฒนาสาขาธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างความสามารถทางนวัตกรรมของสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการสร้างธุรกิจนวัตกรรม และการสร้างเครือข่ายนวัตกรรมเชิงสังคมที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ระหว่างชุมชน ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม หน่วยงานวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมุ่งเน้นในประเด็นนวัตกรรมเชิงสังคม 9 ด้าน คือ 1)ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 2) ด้านความเชื่อมโยงระหว่าง อาหาร น้ำ และพลังงาน 3) ด้านภาครัฐและการศึกษา 4) ด้านการเงิน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม 5) ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน 6) ด้านความเป็นเมือง 7) ด้านสุขภาพ 8) ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และ 9) ด้านการจัดการภัยพิบัติ ภายใต้ 4 แผนงาน ได้แก่ Social Innovation Driving Unit – SID หรือ หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อเป็นการสร้างนวัตกรด้านสังคมและกิจการเพื่อสังคม ด้วยกิจกรรมการอบรม และบ่มเพาะ Social Innovation Network เน้นกิจกรรมสร้างeco system ร่วมกับเครือข่าย Social Innovation Project เป็นการสนับสนุนเงินทุนสำหรับธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบเงินให้เปล่า และ Social Innovation Monitoring ให้ความสำคัญกับการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม ทั้งยังมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมให้เกิดขึ้นในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ในเมืองใหญ่ ระดับภูมิภาค ชุมชน กลุ่มจังหวัดยากจน รวมถึงในย่านนวัตกรรม เพื่อเป็นโอกาสในการเพิ่มความน่าอยู่อาศัย และยกระดับการดำเนินชีวิตของประชากรในแต่ละพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ Trawell PASS (ทราเวล พาส): แพลตฟอร์มนำเที่ยววิถีชุมชน ได้รับการสนับสนุนจาก NIA ภายใต้โครงการ city & community innovation challenge 2018 ด้านเมืองแห่งความเท่าเทียม โดยเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มร่วมกับคนท้องถิ่นเพื่อใช้นำเสนอและบริหารจัดการการท่องเที่ยววันเดียว กิจกรรม สินค้า และการเดินทาง รวมถึงช่วยยกระดับคุณภาพของสินค้าและบริการของคนท้องถิ่นให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวท้องถิ่น (hidden gems) ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นได้สะดวกมากขึ้น ส่วน MuV(มูฟ): รถตุ๊กตุ๊กคนเมืองพลังงานไฟฟ้า เป็นนวัตกรรรมรถตุ๊กตุ๊กระบบไฟฟ้า ลดการใช้พลังงานน้ำมัน ใช้งานง่าย ปลอดภัย และสะดวกต่อการเดินทาง ซึ่งเป็นธุรกิจการเดินทางตอบโจทย์กับเศรษฐกิจสีเขียว และยังนำเอกลักษณ์ของรัตนโกสินทร์มาพัฒนาเป็นธุรกิจได้อย่างดีเยี่ยม
อย่างไรก็ดี "ย่านรัตนโกสินทร์" ถือเป็นย่านที่เต็มไปด้วยแหล่งงานสร้างสรรค์ (Creativity) ศิลปะ (Art) วัฒนธรรม (Culture) ตลอดจนประวัติศาสต์ของประเทศไทยที่สำคัญและโดดเด่นอย่างมีอัตลักษณ์ กลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมภายในย่าน คือ กลุ่มธุรกิจทางด้านศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว โดยในแต่ละชุมชนมีอัตลักษณ์ความโดดเด่นแตกต่างกันออกไป เช่น พื้นที่ท่าเตียน - ย่านศูนย์กลางการค้าขายนับแต่อดีต พื้นที่ปากคลอง - บทบาทของปากคลองซึ่งเป็นแหล่งค้าส่งผักและผลไม้ ตลาดค้าปลีกที่ได้เชื่อมโยงสินค้าไปสู่ตลาดเล็กๆ ในพื้นที่ชั้นในของ กทม. จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่สร้างชื่อเสียงให้กลายเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวทั่วโลก พื้นที่ท่าช้าง - การค้าภายในย่านนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา ผ่านการปรับปรุงอาคารที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวมากขึ้น พื้นที่ท่าวังและท่าพระจันทร์ - เป็นสถานศึกษา รายล้อมด้วยโบราณสถานอันทรงคุณค่า พื้นที่บางลำพู – ย่านที่มีองค์ประกอบของพื้นที่ ทั้งที่อยู่อาศัยและการค้า ทั้งนี้ แนวทางที่สำคัญในการยกระดับย่านดังกล่าว จำเป็นต้องดึงกลุ่มคนที่มีความคิดสร้างสรรค์เข้ามาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดีย พบปะพูดคุย ซึมซับวิถีการดำเนินชีวิตของนักเดินทาง นักท่องเที่ยว ผู้อยู่อาศัย พร้อมผสมผสานสิ่งเก่าและสิ่งใหม่ให้ตอบโจทย์สังคมและตลาดนอกจากนี้ ยังต้องต่อยอดทักษะที่มีอยู่ในชุมชน หรือในย่านให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วยการใช้ 3 เครื่องยนต์ใหญ่อย่าง "เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์" สู่สินค้า บริการ และการสร้างงาน สร้างอาชีพ โดยเฉพาะกับกลุ่มสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี (Tech Startup) สตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยว (Travel Tech Startup) สตาร์ทอัพด้านการพัฒนาเมือง (Urban Tech Startup) และสตาร์ทอัพด้านการเงิน (Fintech Startup) ดร.พันธุ์อาจ กล่าวสรุป
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด หรือสนใจขอรับการสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือ facebook.com/niathailand