กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีจังหวัดประกาศเขตการ
ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 7 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เชียงราย ศรีสะเกษ มหาสารคาม ตราด และชลบุรี รวม 27 อำเภอ 106 ตำบล 881 หมู่บ้าน ซึ่ง ปภ.ได้จัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำบรรเทา
ความเดือดร้อนแก่ประชาชน พร้อมกำหนดจุดแจกจ่ายน้ำที่เข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่ รวมถึงวางแผนบริหารจัดการน้ำและจัดสรรน้ำอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีจังหวัดประกาศเขต
การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 7 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เชียงราย ศรีสะเกษ มหาสารคาม ตราด และชลบุรี รวม 27 อำเภอ 106 ตำบล 881 หมู่บ้าน โดยพิษณุโลก ประกาศเขตฯ (ภัยแล้ง)
ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอชาติตระการ และอำเภอเมืองพิษณุโลก รวม 11 ตำบล 80 หมู่บ้าน อุตรดิตถ์ประกาศเขตฯ (ภัยแล้ง) ในอำเภอท่าปลา รวม 2 ตำบล 15 หมู่บ้าน เชียงราย ประกาศเขตฯ (ภัยแล้ง) ในพื้นที่ 13 อำเภอ
ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอป่าแดด อำเภอเชียงแสน อำเภอพญาเม็งราย อำเภอแม่สาย อำเภอพาน อำเภอเทิง
อำเภอแม่จัน อำเภอเชียงของ อำเภอเวียงชัย อำเภอเวียงแก่น อำเภอขุนตาล และอำเภอดอยหลวง รวม 63 อำเภอ 561 ตำบล
ศรีสะเกษ ประกาศเขตฯ (ภัยแล้ง) ในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองจันทร์ อำเภอขุขันธ์ อำเภอไพรบึง อำเภอศรีรัตนะ อำเภอขุนหาญ และอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ รวม 16 ตำบล 126 หมู่บ้าน มหาสารคาม ประกาศเขตฯ (ภัยแล้ง) ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวาปีปทุม และอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย รวม 11 ตำบล 79 หมู่บ้าน ตราด ประกาศเขตฯ (ภัยแล้ง) ในอำเภอเมืองตราด รวม 2 ตำบล 13 หมู่บ้าน ชลบุรี ประกาศเขตฯ (ภัยแล้ง) ในอำเภอเกาะสีชัง รวม 1 ตำบล 7 หมู่บ้าน
ทั้งนี้ ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยสนับสนุนการแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปภ. ได้ประสานจังหวัดเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาภัยแล้งไว้ล่วงหน้าครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการจัดชุดปฏิบัติการสำรวจข้อมูลสถานการณ์น้ำ ข้อมูลแหล่งน้ำและประมาณการใช้น้ำในพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ โดยแยกเป็น น้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงสำรวจและจัดทำบัญชีแหล่งน้ำ ควบคู่กับการปรับปรุงบัญชีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งให้เป็นปัจจุบัน อีกทั้งตรวจสอบภาชนะกักเก็บน้ำให้ใช้การได้เพียงพอพร้อมกำหนดจุดแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคที่เข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่ ตลอดจนรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนเกษตรกรให้ปรับวิถีทำการเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้ง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป