กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--นาราซีซเท็ม
อย. บูรณาการทุกภาคส่วน สร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทยสุขภาพดี จัดโครงการ "เครือข่ายชุมชนร่วมใจ ป้องกันภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพ" โดยต่อยอดแนวคิด บวร.ร. (บ้าน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล) จากโครงการชุมชนสุขภาพดี ปี 2561 ที่มีการลงพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด โดยในปี 2562 นี้ อย. ได้ขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้นเป็น 25 ชุมชน 25 จังหวัดจากทุกภาคทั่วประเทศ เปิดโอกาสให้ประชาชนและหน่วยงานในชุมชนมีส่วนร่วมจัดการหรือป้องกันปัญหาด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพตามบริบทของชุมชน เผย การดำเนินโครงการสัมฤทธิ์ผลด้วยดี คนในชุมชนสามารถดูแลตนเองให้มีพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ถูกต้องเหมาะสม โดยหลังดำเนินโครงการมีความรู้และพฤติกรรมในทุกประเด็นสูงขึ้นมาก ทั้งเรื่องความรู้และพฤติกรรม
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และคณะ แถลงข่าวการดำเนินงานโครงการ "เครือข่ายชุมชนร่วมใจ ป้องกันภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพ" ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ ว่า เป็นโครงการที่ต้องการให้คนในชุมชน สร้างเครือข่ายชุมชนหรือรวมตัวกันเพื่อจัดการหรือแก้ปัญหาเกี่ยวกับการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ทางชุมชนในแต่ละพื้นที่นั้น ๆ ประสบอยู่ และดำเนินกิจกรรมโดยชุมชนเอง ผ่าน บวร.ร. หรือ บ้าน วัด โรงเรียน และโรงพยาบาล ซึ่งเป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน ภายใต้วิถีชีวิตที่เหมาะสมกับชุมชน เพื่อจะได้เกิดความยั่งยืน โดยแต่ละชุมชน / จังหวัด มีปัญหาเกี่ยวกับการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่แตกต่างกันไป ได้แก่ ปัญหาพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีรสชาติหวาน มัน เค็ม มากเกินไป ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรค NCDs เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต หัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ ปัญหายาชุด ยาน้ำสมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดน้ำที่ผิดกฎหมาย ลักลอบผสมสารสเตียรอยด์ที่มีการเร่ขายตามบ้าน หรือรถเร่ และปัญหาการหลงเชื่อโฆษณาอวดสรรพคุณเกินจริงทางสื่อออนไลน์ วิทยุชุมชน ทำให้ได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายหรือผสมสารอันตราย
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้จัดทำโครงการ "เครือข่ายชุมชนร่วมใจ ป้องกันภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพ" ร่วมกับ 25 ชุมชนจาก 25 จังหวัด และ อย. ได้ลงพื้นที่ติดตามพร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายในชุมชนอย่างใกล้ชิด และถือว่าโครงการสัมฤทธิ์ผลตามที่มุ่งหวัง โดยแต่ละจังหวัดมีกลยุทธ์แก้ไขและป้องกันปัญหา แตกต่างกันไปตามบริบทชุมชน โดย 25 จังหวัดดังกล่าวที่ร่วมดำเนินงานโครงการฯ กับ อย. ไล่เรียงจากภาคเหนือจนถึงภาคใต้ของประเทศ ดังนี้ จังหวัดเชียงใหม่ น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม บึงกาฬ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุดรธานี อำนาจเจริญ นครปฐม เพชรบูรณ์ สุพรรณบุรี อุทัยธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ระนอง และ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ทั้งนี้ เพื่อให้มีการประเมินผลสำเร็จของโครงการ อย.จึงได้ร่วมกับอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันการพลศึกษา วิจัยประเมินผลความรู้และพฤติกรรมที่กลุ่มเป้าหมายในชุมชนได้รับตามประเด็นที่ชุมชนนั้น ๆ ดำเนินการ โดยในประเด็นการใช้ประโยชน์จากข้อมูลบนฉลากอาหาร เพื่อลดการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม และการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัย พบว่า หลังการเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการฯ กลุ่มตัวอย่างมีความรู้เกี่ยวกับการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารอย่างปลอดภัยเพิ่มขึ้นกว่าก่อนการเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการฯ จากร้อยละ 62.7 เป็นร้อยละ 95.9 และมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารอย่างปลอดภัยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 44.6 เป็นร้อยละ 74.5 สำหรับในประเด็นการใช้ยาที่มีการลักลอบผสมสารสเตียรอยด์ ยาชุด หรือยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ผลการวิจัย พบว่า หลังการเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการฯ กลุ่มตัวอย่างมีความรู้เกี่ยวกับการบริโภคยาอย่างปลอดภัยเพิ่มขึ้นกว่าก่อนการเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการฯ จากร้อยละ 74.3 เป็นร้อยละ 92.7 และมีพฤติกรรมการบริโภคยาอย่างปลอดภัยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 77.7 เป็นร้อยละ 90.9 ส่วนในประเด็นการหลงเชื่อโฆษณายาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ผลการวิจัย พบว่า หลังการเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการฯ กลุ่มตัวอย่างมีความสามารถในการแยกแยะลักษณะของโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดเกินจริงเพิ่มขึ้นกว่าก่อนการเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการฯ จากร้อยละ 79.0 เป็นร้อยละ 99.5 และมีพฤติกรรมไม่หลงเชื่อโฆษณาที่โอ้อวดเกินจริงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 82.0 เป็นร้อยละ 100
จะเห็นได้ว่า การดำเนินงานของ 25 ชุมชนดังกล่าว ส่งผลให้แต่ละชุมชนมีภูมิคุ้มกัน ปกป้องสิทธิ์ตนเอง มีพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ถูกต้องและเหมาะสม ที่สำคัญ เกิดความร่วมมือเชิงเครือข่ายในรูปแบบประชารัฐ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย อันจะทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ อย. จะเดินหน้าพัฒนารูปแบบ วิธีการที่ทันสมัย นำนวัตกรรมมาใช้ต่อยอดโครงการดังกล่าวในปีต่อ ๆ ไป โดยหาเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น เช่น พชอ. และหน่วยงานในกระทรวงอื่น ๆ เข้าให้ถึงทั้งระดับตำบลและอำเภอ เพื่อให้ครอบคลุมทุกชุมชนทั่วประเทศ ให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี ในระยะยาวต่อไป เลขาธิการฯ กล่าวในที่สุด