กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้
OKMD ปั้นครูพันธุ์ใหม่ ใช้ "บีบีแอล" พัฒนาหลักสูตรเทคโนโลยีหุ่นยนต์และเออาร์ สอนเด็กจุดประกายความสนใจ เลือกเรียนสายวิทย์ฯ เคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ระดับโลก นำร่องพื้นที่ อีอีซี
โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ถือเป็นฐานผลิตของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นเศรษฐกิจชั้นนำของทวีปเอเชีย แต่การจะไปสู่เป้าหมายได้นั้น กลไกสำคัญคือการพัฒนากำลังคนที่มีทักษะความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และดิจิทัล เพื่อสนองต่ออุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องการองค์ความรู้ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมในอนาคต เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทยให้สูงขึ้น
สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD เป็นหน่วยงานหนึ่งที่เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาคน จึงได้จัดทำหลักสูตรเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีความจริงเสริมหรือเออาร์ (Augmented Reality: AR) ตามหลักการพัฒนาสมองหรือบีบีแอล (Brain-based Learning: BBL) ขึ้น โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้จัดอบรมครูในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพที่อยู่ในพื้นที่อีอีซี จำนวน 300 คน เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ไปเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นให้เด็กสนใจและสร้างแรงบันดาลใจในการเลือกศึกษาต่อในสาขาวิชาชีพ ที่เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่คาดว่าจะมีมากกว่า 170,000 คน ในช่วงปี พ.ศ. 2560-2564
ดร. อภิชาติ ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักโครงการและจัดการความรู้ OKMD กล่าวว่า OKMD ได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ส่งอาจารย์และนักศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์มาช่วยถ่ายทอดความรู้ในการอบรมครูครั้งนี้ โดยได้ใช้หลักของการพัฒนาสมอง หรือ BBL เป็นแนวทางจัดการเรียนรู้สมัยใหม่ที่สอดคล้องกับโครงสร้างและการทำงานของสมอง เพื่อเพิ่มทักษะการสอนในภาคปฏิบัติ ให้เด็กสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้ด้วยตัวเอง และประการสำคัญคือ เพื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจและแรงบันดาลใจในการเลือกเรียนสาขาวิชาชีพที่สามารถสนองความต้องการกำลังคนของอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่อีอีซี
"การนำหลักการ BBL มาใช้กับวัยรุ่นและวัยทำงานในประเทศไทยเรายังไม่แพร่หลายนัก OKMD จึงเร่งสนับสนุนให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ของสมอง และนำไปใช้เพื่อให้คนได้เรียนรู้ในสิ่งที่สมองตนมีศักยภาพ รวมทั้งเป็นการเตรียมคนให้รู้เท่าทันโลก และส่งเสริมทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะทำให้คนรุ่นใหม่ของเราสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมได้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการเป็นที่ต้องการของตลาดโลก เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้สูงขึ้นเทียบเท่าระดับโลกได้" ดร. อภิชาติ กล่าว
ดร. ณรงค์ศักดิ์ ถิรสุนทรากุล อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) กล่าวว่า หุ่นยนต์ เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากการประยุกต์ใช้ศาสตร์พื้นฐานในหลายสาขา ทั้งเครื่องกล ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ รวมไปถึงศิลปะเข้าด้วยกัน ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ในงานแต่ละประเภท อย่างในต่างประเทศมีการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้งานมากกว่าประเทศไทย เพื่อลดการใช้แรงงานคนในระบบการผลิตของอุตสาหกรรม ประเภทงานหนัก งานเสี่ยงอันตราย งานเฉพาะเจาะจง และงานที่ต้องทำซ้ำไปซ้ำมา เพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่ต้องทำงานที่มีผลเสียกับสุขภาพ และในส่วนของผู้ผลิตก็จะได้งานคุณภาพและมีมาตรฐาน หุ่นยนต์สามารถลดข้อผิดพลาดในการกระบวนการทำงานได้ถึงร้อยละ 98-99 ในขณะที่แรงงานคนจะสามารถลดข้อผิดพลาดในการกระบวนการทำงานได้น้อยกว่า คือ ร้อยละ 95 และแนวโน้มการใช้หุ่นยนต์ทั่วโลกจะใช้ในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ ด้านการแพทย์ ด้านการเกษตร อย่างในบางประเทศเริ่มใช้ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตด้านการเกษตร เป็นต้น
สำหรับการอบรมเรื่องเทคโนโลยีหุ่นยนต์ แบบพื้นฐานในครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้พร้อมลงมือทำควบคู่กันไป เพื่อให้สามารถจดจำ และนำไปใช้ได้จริงในภาคสนาม โดยจัดให้มีการฝึกปฏิบัติจากการจำลอง เรื่องแขนกล ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของหุ่นยนต์ สำหรับใช้ในการยก จับ เคลื่อนย้ายสิ่งของ ทั้งนี้ เพื่อให้ครูผู้เข้าอบรมรู้หลักการทำงาน การเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ และนำไปขยายผลสอนเด็กชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวะสายเทคโนโลยี
อาจารย์ภัคพนธ์ จันทโชติ และอาจารย์ฐานิสร์ษา ภิรัมย์ สาขาอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และสารสนเทศ วิทยาลัยจุฬาภรณ์ (ลาดขวาง) จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า การที่ OKMD เปิดโอกาสให้ครูในพื้นที่อีอีซีเข้ารับการอบรมเรื่องเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก เพราะเราได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องหุ่นยนต์พื้นฐาน การใช้งานแขนกล การควบคุมมอเตอร์ การหมุน การใช้โปรแกรมควบคุม การได้ลงมือทำจริง ซึ่งจะทำให้เราสามารถนำไปขยายผลในการสอนและการฝึกทักษะ โดยลงรายละเอียดให้กับกลุ่มนักเรียนที่มีพื้นฐานด้านไฟฟ้าได้มากขึ้น
อาจารย์เพ็ญนภา เลิศสุรัตน์ สาขาคอมพิวเตอร์ โรงเรียนชลกันยานุกูล จ.ชลบุรี กล่าวว่า จะนำความรู้ใหม่ๆ อย่างการเรียนการสอนแบบ BBL รายละเอียดต่างๆ ไปประยุกต์ใช้ในหลักสูตรที่ทางโรงเรียนพยายามพัฒนาหลักสูตรในแต่ละกลุ่มสาระเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่อีอีซี อย่างสายวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในด้านโปรแกรมมิ่ง หุ่นยนต์ กราฟิกแอนิเมชัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ วิธีการสอนที่เราสามารถจำลองของจริงที่ทำขึ้นในห้องให้นักเรียนได้เห็นจริง และหากนักเรียนต้องการทำหุ่นยนต์เองก็สามารถนำไปฝึกหัดได้จริง เพราะรู้จักวิธีการและอุปกรณ์ต่อมือกลแล้ว
ในส่วนของเทคโนโลยีความจริงเสริมหรือเออาร์ อาจารย์พูนสิริ ใจสังการ์ วิทยากรหลักจากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) เปิดเผยว่า เออาร์เป็นเทคนิคการแทนที่วัตถุในโลกแห่งความเป็นจริงด้วยรูปแบบ วีดีโอ หรือวัตถุสามมิติ และแสดงผลผ่านฮาร์ดแวร์ รวมถึงสมาร์ทโฟนและแทบเล็ท ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ได้ เพื่อเพิ่มทักษะและจินตนาการให้กับผู้เรียน ที่สามารถป้อนเนื้อหาที่เข้าใจง่ายในรูปแบบดิจิทัล นอกจากนี้ เทคโนโลยีเออาร์สามารถยังสามารถตอบโจทย์โครงการสมาร์ทซิตี้ ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล และเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ในการเพิ่มประสิทธิภาพให้คนสามารถอยู่อาศัยด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการสร้างความปลอดภัยต่อที่อยู่อาศัย การใช้รถใช้ถนน รวมไปถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อรายงานหรือระบุแหล่งกิน แหล่งเที่ยว แหล่งช็อปปิ้ง สถานพยาบาล และสถานความงาม ของแต่ละจังหวัด และจะรายงานเป็นระบบเรียลไทม์ หากใครเคยดูภาพยนตร์ไอรอนแมน จะเห็นภาพชัดเจนของเทคโนโลยีเออาร์ ที่จะทำให้นักเรียนสนุกไปกับการคิดและการลงมือทำเอง โดยนำไปแทรกในวิชาวิทยาศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ได้
อาจารย์เกษตร ทองสุข สาขาเมกาทรอนิกส์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ จ.ชลบุรี กล่าวว่า หลักสูตรเออาร์ที่ได้จากการอบรมในครั้งนี้ สามารถนำไปพัฒนาสื่อการสอน จัดทำหลักสูตรเพื่อให้เข้ากับสถานประกอบการ และปรับใช้กับการเขียนโปรแกรม 3D ให้เข้าใจง่ายขึ้น เชื่อมโยงกับการสอนหลักสูตร STEM ที่มีอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังช่วยในการวางแผนโครงงานของนักเรียน เพื่อให้เกิดจินตนาการก่อนการสร้างชิ้นงาน นับเป็นการเพิ่มโอกาสในการเลือกเรียนสาขาต่างๆ ให้กับนักเรียน หรือสามารถทำงานได้ทันที ซึ่งจะเป็นมีประโยชน์มาก เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีเทคโนโลยีนี้ในการเรียนการสอน
อาจารย์นันทพร เย็นประสิทธิ์ สาขาวิทยาศาสตร์ โรงเรียนดอนฉิมพลี จ.ฉะเชิงเทรา บอกว่า การอบรมครั้งนี้มีประโยชน์มาก เพราะสามารถนำไปบูรณาการการเรียนการสอนในวิชา STEM ได้ และเป็นการกระตุ้นความสนใจของนักเรียนให้อยากเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น จากเดิมที่เรียนเฉพาะในหนังสือและบนกระดาน เทคโนโลยีเออาร์จะทำให้เด็กนักเรียนมองเห็นโครงสร้างของเซลล์ จะได้สนุกไปกับการเรียนรู้ และสามารถนำสมาร์ทโฟนซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่นักเรียนรุ่นใหม่คุ้นเคยมาใช้ในการเรียนได้
ภายหลังจากปิดการอบรมครูผู้สอนสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ประกาศนียบัตรวิชาชีพในเขตพื้นที่อีอีซี ทั้ง 3 รุ่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว OKMD ยังคงเดินหน้าจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ประกาศนียบัตรวิชาชีพสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์ในเขตพื้นที่อีอีซี ในหลักสูตรเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) และหลักสูตรเทคโนโลยีความจริงเสริม (Augmented Reality : AR) วันที่ 15-16 มิ.ย. 62 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ฉะเชิงเทรา วันที่ 22-23 มิ.ย. 62 มหาวิทยาลัยบูรพา ชลบุรี และวันที่ 29-30 มิ.ย. 62 ณ โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ ระยอง
***ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.okmd.or.th***