กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "กรณี ส.ส. ถือครองหุ้นสื่อ" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 17 – 18 มิถุนายน 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,257 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับกรณี ส.ส. ถือครองหุ้นสื่อ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนด ค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการตรวจสอบ ส.ส. ทั้งสภา เกี่ยวกับการถือครองหุ้นสื่อ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 81.38 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เพื่อความเท่าเทียมกันทั้ง 2 ฝ่าย เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อความโปร่งใส ยุติธรรม และป้องกันการทุจริต ขณะที่ ร้อยละ 8.83 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ต้องมีการตรวจสอบตั้งแต่ก่อนเป็น ส.ส. และอาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย และร้อยละ 9.79 ระบุ ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อแนวโน้มการพ้นจากตำแหน่งของ ส.ส. จำนวนมาก ของทั้ง 2 ฝ่าย จากกรณีการถือครองหุ้นสื่อ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.44 ระบุว่า ให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย หากใครมีลักษณะต้องห้ามก็ควรพ้นจากตำแหน่ง รองลงมา ร้อยละ 16.87 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 9.47 ระบุว่า ทั้ง 2 ฝ่ายควรเจรจาเพื่อยุติการฟ้องร้องซึ่งกันและกัน ร้อยละ 6.44 ระบุว่า สมาชิกรัฐสภาร่วมกันยื่นเรื่องเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยด่วน ร้อยละ 3.18 ระบุว่า หากยังไม่มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ ให้ คสช. ใช้มาตรา 44 แก้ไขปัญหา และร้อยละ 6.60 ระบุ ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.91 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.62 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.38 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.65 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.44 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 56.01 เป็นเพศชาย และร้อยละ 43.99 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่างร้อยละ 5.73 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 15.19 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 23.47 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 33.02 มีอายุ 46 – 59 ปี และร้อยละ 22.59 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 94.91 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.42 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.56 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 1.11 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 22.43 สถานภาพโสด ร้อยละ 72.32 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.90 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.35 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส
ตัวอย่างร้อยละ 28.56 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 31.66 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.96 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 24.90 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.17 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.75 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 11.61 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.96 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.84 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.56 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.31 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 17.34 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.47 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.91 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่างร้อยละ 14.40 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 23.39 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 26.33 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 12.73 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.68 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 6.92 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 9.55 ไม่ระบุรายได้