กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--ไอเดีย เวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์
กลุ่มทรู เดินหน้าจัดเวทีพิจารณาแผนพัฒนาโรงเรียนประชารัฐโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED กลุ่มภาคเหนือ 367 แห่ง
บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น หนึ่งในองค์กรเอกชนผู้ก่อตั้งโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED นำโดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ (ยืน ที่ 9 จากซ้าย) ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ / ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เดินหน้าสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมด้านการศึกษา จัดการพิจารณาแผนพัฒนาโรงเรียนประชารัฐ โครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED อย่างต่อเนื่อง โดยครั้งนี้ ได้ร่วมกับคณะผู้บริหารกลุ่มทรู ในฐานะ School Counselor อาทิ นายนพปฎล เดชอุดม (ยืนที่ 8 จากขวา) รองประธานคณะกรรมการบริหาร และนายศิริพจน์ คุณากรพันธุ์ (ยืนที่ 8 จากซ้าย) กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น รับฟังคณะผู้บริหารโรงเรียนจากภาคเหนือที่อยู่ในความดูแลของกลุ่มทรู 367 แห่ง นำเสนอแผนพัฒนาโรงเรียนประชารัฐ ซึ่งคณะผู้บริหาร ได้ร่วมกันพิจารณา ให้คำแนะนำ พร้อมอนุมัติแผนเพื่อนำไปใช้ขับเคลื่อนโรงเรียนประชารัฐที่กลุ่มทรูดูแลต่อไป
ทั้งนี้ การพิจารณาแผนพัฒนาโรงเรียน และงบประมาณปีนี้ ได้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการนำเสนอข้อมูลการบริหารจัดการโรงเรียนอย่างโปร่งใส รวมทั้งการส่งแผนพัฒนาแบบออนไลน์ ตลอดจนการให้คะแนนของคณะกรรมการผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งสอดคล้องยุทธศาสตร์หลักของโครงการ ทั้งนี้ กลุ่มทรู จะจัดเวทีการนำเสนอแผนงานพัฒนาโรงเรียนประชารัฐครบทั้ง 4 ภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ ภายในต้นเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมเดินหน้าผลักดันแผนงานให้เกิดขึ้นจริง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา ครบตามเป้าหมาย 1,000 โรงเรียนประชารัฐในปีนี้
เกี่ยวกับโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED
โครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED ริเริ่มขึ้นในปี 2559 โดยมี 12 องค์กรเอกชนชั้นนำเป็นผู้ร่วมก่อตั้งในระยะที่ 1 และขยายผลเครือข่ายการสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมด้านการศึกษาสู่ 33 องค์กรในระยะที่ 2 เพื่อร่วมกับภาครัฐ และภาคประชาสังคม ขับเคลื่อนการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน โดยภาคเอกชน ได้นำศักยภาพขององค์กร มาร่วมให้การสนับสนุนในมิติต่างๆ อาทิ องค์ความรู้ งบประมาณ รวมถึงบุคลากร ผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner) ลงพื้นที่ปฏิบัติจริง เพื่อร่วมทำงานกับผู้บริหารโรงเรียน ภายใต้กรอบการดำเนินงานตาม 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1.การเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ 2.กลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม 3.การพัฒนาสถานศึกษาและครูผู้สอน 4.การสร้างคุณค่าและเด็กเป็นศูนย์กลาง และ 5.การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของนักเรียนและสถานศึกษา โดยตั้งเป้าหมายในการพัฒนาโรงเรียนประชารัฐ 15% ของจำนวนโรงเรียนในสังกัดสพฐ. ทั่วประเทศ