เอ็มโฟกัสนำเสนอบทบาทของซอฟต์แวร์ซิมมูเลชั่น ในธุรกิจ

ข่าวเทคโนโลยี Friday February 8, 2008 15:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--เอ็มโฟกัส
เชื่อว่าหลายคนคงเคยไปต่อคิวที่แบงค์และอีกหลายคนคงหงุดหงิดกับการเข้าไปในลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ แล้วหาที่จอดไม่ค่อยได้และเราก็มักจะบ่นกันว่า “ทำไมไม่ออกแบบให้ดีกว่านี้นะ” ตอนสร้างทำไมไม่คำนึงถึงคนใช้ โดยความเห็นส่วนตัวแล้วผู้เขียนว่าคนสร้างคนออกแบบทุกคนคงตั้งใจดีแต่ว่าไม่รอบคอบหรือคิดไม่ครบ ออกแบบไม่รองรับกับทุกสถานการณ์มากกว่า เรื่องของการออกแบบ การปรับปรุงนี่ล่ะครับคือจุดที่ควรจะนำซอฟต์แวร์ซิมมูเลชั่นมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นงาน ออกแบบ งาน R&D งานพัฒนาธุรกิจ (Business Development) ฯลฯ ที่ต้องจำลอง วิเคราะห์ก่อนปฏิบัติ เพราะการปฏิบัติจริงนั้นต้องลงทุน ลงเวลามหาศาล ใช้เพียงประสบการณ์อย่างเดียวอาจจะเป็นอันตรายได้ ยิ่งเป็นการวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจด้วยเราทุกคนคงทราบดีว่ามีปัจจัยต่าง ๆ มากมายที่มีผลต่อการตัดสินใจ ดังนั้นแล้วการตัดสินใจโดยไม่รอบคอบหรือไม่ดีพออาจทำให้ธุรกิจเสียหายถึงขั้นล่มจมกันเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่นการฝึกหัดนักบิน นักบินทุกคนต้องฝึกหัดการบินโดยใช้ ไฟลทซิมมูลเลชั่น (Flight Simulation)เพื่อฝึกหัดและฝึกฝนก่อน (เชื่อแน่ว่าทุกคนคงไม่อยากให้นักบินมาฝึกหัดขับเครื่องบินจริง ๆ บนเที่ยวบินที่ตนเองเป็นผู้โดยสารแน่นอน) หรืออีกตัวอย่างนึงเร็ว ๆ นี้ผู้เขียนทราบข่าวมาว่ามีการใช้ซอฟต์แวร์ซิมมูเลชั่นในการจำลองแบบปัญหาสำหรับรองรับกรณีเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ว่าถ้าเกิดขึ้นที่ชายหาดบริเวณใดจะกระทบพื้นที่บริเวณใดบ้าง และจะสร้างแผนป้องกันภัยและแผนฉุกเฉินได้อย่างไร ซึ่งถ้าเขียนโมเดลกันดี ๆ และออกแบบกันอย่างรอบคอบก่อนที่จะเกิดภัยพิบัติจริงเชื่อแน่ว่าจะลดความเสียหายลงได้เยอะ แล้วในเชิงธุรกิจจะนำซอฟต์แวร์ซิมมูเลชั่นมาจำลองอะไรได้บ้าง? — หลายท่านเมื่ออ่านมาถึงจุดนี้แล้วก็จะเกิดคำถามนี้ขึ้นมาในใจ โดยทั่วไปแล้วซอฟต์แวร์ซิมมูเลชั่น เช่น ซอฟต์แวร์ ARENA จะไม่จำกัดรูปแบบในการโมเดลปัญหาสามารถจำลองได้ทุกปัญหา โดยในเบื้องต้นนี้ผู้เขียนจะพาไปรู้จักกับตัวอย่างทางธุรกิจที่นำซิมมูเลชั่นซอฟต์แวร์ไปใช้และประสบความสำเร็จดีดังนี้
1. การออกแบบ Production ของโรงงาน การนำซอฟต์แวร์ซิมมูเลชั่นไปใช้ในการออกแบบ Production ของโรงงานนั้นประสบความสำเร็จอย่างสูง หลายบริษัทชั้นนำของโลกตั้งแต่ขนาดใหญ่จนเล็กมีการนำซอฟต์แวร์ซิมมูเลชั่นไปใช้ในการแก้ไขปัญหามากมายในหลายแง่มุม เช่น
a.การบาลานซ์ระหว่างความต้องการที่เกิดขึ้นกับกำลังการผลิตที่มีอยู่ หลายครั้งที่โรงงานต้องประสบกับปัญหาเช่น มีออร์เดอร์สูงกว่ากำลังการผลิต อาจเป็นเพราะกระบวนการผลิตมีคอขวด (Bottleneck) ตามทฤษฏีของ TOC (Theory of Constraint) แล้วเชื่อว่ากำลังการผลิตของสายการผลิตใด ๆ จะขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตของคอขวด ถึงแม้เราจะทราบเช่นนั้นจริงแต่บางครั้งก็ยากสำหรับผู้ปฏิบัติการที่จะชี้ชัดลงไปว่าคอขวดของกระบวนการที่มีนั้นอยู่ที่จุดใด? โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการผลิตที่คอขวดมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เช่นการผลิตแบบ Job Shop หรือ Flow Shop ตลอดจนสายการผลิตที่ไม่บาลานซ์ วิศวกรต้องทำการวิเคราะห์หาข้อจำกัด (Constraint) ของกระบวนการออกมาให้ได้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการใช้ซอฟต์แวร์ซิมมูเลชั่นมาทำการสร้างโมเดลที่เหมือนกับกระบวนการผลิตของตนเองออกมาและให้ระบบชี้ชัดออกมาได้ว่าจุดใดในกระบวนการผลิตมีปัญหา นอกเหนือจากนั้นแล้วซิมมูเลชั่นยังสามารถให้คำตอบต่อไปว่าควรจะต้องทำอย่างไรต่อดี เช่น เปิดโอที ซื้อเครื่องจักรเพิ่ม ปรับสายการผลิตใหม่ ปฏิเสธออร์เดอร์ลูกค้า (แน่นอนเราไม่อยากให้มันเกิดขึ้น) ฯลฯ ผลที่ได้จากการรันโมเดลอาจจะได้คำตอบหลายแบบที่แตกต่างกันในเชิงของ Utilization ตลอดจน Efficiency ฯลฯ ผู้บริหารสามารถเลือกตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้นจากคำตอบเหล่านั้นส่งผลให้ผู้บริหารมั่นใจในการตัดสินใจของตนเองว่าจะได้รับ ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจากการดำเนินงานอย่างแน่นอน
b.การวาง Plant Layout เราควรจะจัดสายการผลิตอย่างไรดีจึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด หากเราเป็นผู้บริหารที่เป็นเจ้าของเงินทุนที่จะต้องลงทุน คงต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้แน่นอน แต่จะทำอย่างไรเพื่อให้มั่นใจได้ก็ต้องเริ่มต้นจากการสร้างโมเดลซิมมูเลชั่นก่อนแล้วรันผลเปรียบเทียบรูปแบบการจัดวางหลาย ๆ รูปแบบแล้วรันซิมมูเลชั่นวัด Throughput ของแต่ละผังที่แตกต่างกันมาเปรียบเทียบกันดู เพราะถ้าวางผังไปแล้วติดตั้งเครื่องจักรไปแล้วหากไม่ดีต้องมาปรับเปลี่ยนกันทีหลังคงเป็นเรื่องไม่สนุกแน่!
2. การออกแบบซัพพลายเชน การบริหารซัพพลายเชนนั้นเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกันมาก เราทุกคนต้องปรับตัวให้ทัน ในแง่มุมของการเชื่อมโยงการทำงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร จากประสบการณ์ของผู้เขียนในการเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรขนาดใหญ่หลายรายพบว่าการนำซิมมูเลชั่นไปใช้ในการออกแบบซัพพลายเชนนั้นทำให้สามารถมองออกถึง
a. การจัดการการขนส่ง นอกจากเรื่องของการผลิตแล้วต้นทุนในการจัดส่งเป็นสิ่งสำคัญ (ประเทศไทยเราโครงสร้างต้นทุนในเชิงของการขนส่งยังสูงอยู่มากในเชิงของการแข่งขัน) ดังนั้นการออกแบบเส้นทางการขนส่ง วิธีการขนส่ง จำนวน DC ตลอดจนพาหนะที่ใช้ ฯลฯ จะมีผลต่อต้นทุนดำเนินการโดยตรง
b.การหาแหล่งในการซัพพลายชิ้นส่วน ชิ้นส่วนแบบเดียวกันจะหา Source จากไหนดีในมุมมองของบริษัทใหญ่แล้วพบว่าจะมีการกำหนด KPI ในเชิงของ Supplier Performance เช่น ต้นทุน ความตรงต่อเวลา ความสามารถในการดำเนินการ ฯลฯ ไว้เป็นมาตรฐานสำหรับการเลือกซัพพลายเออร์ เช่นเดียวกับหลักการของ TOC (Theory of Constraint) บางครั้งเราพบว่าข้อจำกัดของกระบวนการผลิตเกิดจากการที่ซัพพลายเออร์ส่งสินค้าไม่ทัน ดังนั้นเราจึงไม่ควรเสี่ยงในการเลือกซัพพลายเออร์เข้ามาในกระบวนการ ผลลัพธ์จากการรันซิมมูเลชั่นจะเป็นตัวบอกว่าซัพพลายเออร์ที่แตกต่างกันมีผลการดำเนินงานแตกต่างกัน จะส่งผลกระทบกับการดำเนินงานของบริษัทอย่างไรเพื่อผู้ตัดสินใจจะสามารถเลือกได้อย่างถูกต้อง
c.ต้นทุนในการดำเนินงาน การดำเนินธุรกิจในโมเดลที่แตกต่างกันจะมีต้นทุนดำเนินงานในที่แตกต่างกันอย่างแน่นอน และวิธีการอย่างไรจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในซัพพลายเชน เช่น
i.ควรเพิ่มจำนวนเที่ยวรถสำหรับการส่งสินค้าดีหรือควรเปิดศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ดีกว่ากัน?
ii.ควรซื้อรถเพิ่มหรือใช้ผู้ขนส่งแบบ Outsource จะประหยัดกว่ากัน
iii.ควรใช้นโยบายสินค้าคงคลังแบบใดจึงจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่ำที่สุด
iv.ฯลฯ
d.การวัดความพึงพอใจของลูกค้า นี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในซัพพลายเชนเป็นหัวใจเลยก็ว่าได้ หากเราสามารถจำลองการให้บริการเราได้ เราก็สามารถวัดความพึงพอใจของลูกค้าได้ ซิมมูเลชั่นจะให้คำตอบซึ่งจะชี้ออกมาให้ผู้บริหารตัดสินใจดำเนินงานได้ตรงกับความพอใจของลูกค้าได้มากที่สุด
3.การออกแบบกระบวนการธุรกิจ หลายครั้งทั้งในธุรกิจภาครัฐและเอกชนมีปัญหากับการวางกระบวนการธุรกิจในองค์กรของตนเองไม่ทราบว่าจะวางหน่วยงานแบบไหนดี แบบไหนขั้นตอนเอกสารจะสั้นที่สุด จะให้บริการลูกค้า (เอกชน) หรือประชาชน (ในเชิงของหน่วยงานรัฐ) ได้มากที่สุด ซอฟต์แวร์ซิมมูเลชั่นเป็นเพื่อนคนสำคัญของการ Re-engineer องค์กรและออกแบบดัชนีในการวัดผล โดยเฉพาะในโครงการนำร่องต่าง ๆ เช่น หากต้องการปรับการปรับการทำงานของหน่วยงานราชการให้มาเป็นระบบ CEO จะต้องยุบแผนกใดบ้าง ยุบตำแหน่งหรือเพิ่มตำแหน่งใดบ้างจึงจะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต้องมีการนำร่อง และวัดผลทั้งนั้น แต่หากไม่มีเวลาที่สามารถจะทำได้จริง ๆ (เนื่องจากการปรับวิธีการทำงานครั้งนึงต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลมากมายทั้งภายในและภายนอกองค์กร) หรือบางครั้งผู้บริหารมีโมเดลการทำงานรูปแบบใหม่หลายโมเดล (เดือนนี้จะทดลองวิธีนี้เดือนหน้าไม่ดีลองใหม่-คงไม่ได้แน่!) คุณสามารถจำลองในคอมพิวเตอร์ได้ก่อน เช่น องค์กรจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่แห่งหนึ่งต้องการปรับวิธีการทำงานของตนเองในการสืบราคาจากเดิมทำงานแบบ manual ซึ่งมีปัญหาตามมาคือใช้ระยะเวลานาน ค่าใช้จ่ายสูง โดยต้องการลงระบบ e-Procurement และ e-Auction เข้ามาทดแทน เมื่อจำลองในระบบแล้วซอฟต์แวร์ซิมมูเลชั่นสามารถให้คำตอบได้ว่า เวลาที่ใช้ในการให้บริการจัดซื้อให้หน่วยงานอื่นลดลงไปเท่ากับเท่าไร เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณการลงทุกแล้วคุ้มค่าหรือไม่ภายในกี่ปีเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นก่อนการตัดสินใจลงทุน
4.การออกแบบงานบริการ เป็นกรณีศึกษาที่ผู้เขียนและเพื่อนสมัยเป็นนักศึกษาทำรายงานส่งอาจารย์มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น หาจำนวนเด็กปั๊มที่เหมาะสมในปั๊มน้ำมัน หาจำนวนพนักงานที่ให้บริการในร้านพิซซ่า หาความยาวของแถวคอยในธนาคาร เป็นต้น แต่ต้องอย่าลืมว่าวันเวลาเปลี่ยนไปงานด้านบริการมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นปัจจุบัน เรามีการใช้ Call Center ในการให้บริการตอบคำถามในฐานะที่ท่านเป็นผู้บริหาร Call Center ท่านจะออกแบบ Call Center และพนักงานของท่านอย่างไร Call Center ท่านจะใหญ่แค่ไหนจึงจะเพียงพอต่อความต้องการ ความยาวเฉลี่ยในการคอยเป็นเท่ากับเท่าไร ดีพอหรือไม่กับการให้บริการเปรียบเทียบกับคู่แข่งโดยเฉพาะบริการที่มีให้กับกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่
บทสรุป ผู้บริหารกับซอฟต์แวร์ซิมมูเลชั่น
ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นเพียงตัวอย่างโดยคร่าว ๆ เท่านั้นเพราะการนำซิมมูเลชั่นไปใช้ในธุรกิจนั้นมีมากมาย ในเบื้องต้นผู้เขียนต้องการให้บทความนี้สะท้อนภาพการใช้งานซอฟต์แวร์ในภาพรวม ชี้ให้เห็นว่าความแตกต่างของการตัดสินใจระหว่างการคาดเดาโดยใช้ประสบการณ์ กับการตัดสินใจโดยมีโมเดลการตัดสินใจเป็นต้นแบบโดยจะเห็นได้ว่า “การตัดสินใจโดยมีโมเดลในการตัดสินใจจากซอฟต์แวร์ซิมมูเลชั่นนั้นมีความเป็นมืออาชีพมากกว่า” เพราะนอกจากท่านจะสามารถมีที่มาที่ไปของข้อมูลแล้ว ยังสามารถเลือกตัดสินใจได้จากหลายโมเดลหลายทางเลือกพิจารณาทางเลือกที่ดีที่สุดแล้วจึงค่อยตัดสินใจ การเริ่มเรียนรู้ในเทคโนโลยีซิมมูเลชั่นมาเป็นเพื่อนที่ปรึกษาคนสำคัญของการบริหารงานนั้นจึงเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาดสำหรับผู้บริหารในยุคปัจจุบัน
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาเยี่ยมชม http://www.m-focus.co.th
บริษัท เอ็มโฟกัส จำกัด
Tel: (662) 513-9892 ext. 103
E-mail: market@m-focus.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ