กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
กระทรวงการคลังเสนอแก้ไขกฎหมายให้ผู้รับบำนาญที่ถูกศาลตัดสินให้จำคุก หรือเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต มีสิทธิได้รับเงินบำนาญหรือบำนาญตกทอดเหมือนเดิม ซึ่งขณะนี้กฎหมายอยู่ระหว่างรอประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา
นายมนัส แจ่มเวหา รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้เสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 เกี่ยวกับการเสียสิทธิการรับบำนาญ โดยแก้ไขให้ผู้รับบำนาญที่ถูกตัดสินให้จำคุก หรือศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต ตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย ยังคงมีสิทธิได้รับบำนาญ หรือบำนาญตกทอดเหมือนเดิม ซึ่งแต่เดิมเมื่อผู้รับบำนาญถูกตัดสินให้จำคุกหรือเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต จะถูกตัดสิทธิ์การรับบำนาญหรือบำนาญตกทอดทันที ซึ่งบุคคลล้มละลายทุจริต ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2547 ได้กำหนดความหมายว่า บุคคลล้มละลายที่ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา 163 ถึงมาตรา 170 แห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือเป็นบุคคลล้มละลายอันเนื่องมาจาก หรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดฐานยักยอกหรือฉ้อโกงตาม ประมวลกฎหมายอาญา หรือการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ทั้งนี้กฎหมายฉบับดังกล่าวอยู่ระหว่างการนำเสนอเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป และที่ผ่านมามีผู้รับบำนาญที่ถูกตัดสิทธิ์การรับบำนาญเนื่องจากมีคำพิพากษาศาลให้จำคุก ในปี 2547 จำนวน 3 ราย ปี 2548 จำนวน 4 ราย ปี 2549 จำนวน 5 ราย ปี 2550 จำนวน 7 ราย และปี 2551 จำนวน 2 ราย สำหรับกรณีล้มละลายมีจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างสั่งพิทักษ์ทรัพย์ จึงยังต้องโอนเงินให้แก่กรมบังคับคดี ในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อยู่
“การแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้ ก็เนื่องมาจากเห็นว่า บำนาญเป็นเงินที่ทางราชการให้เพื่อตอบแทนการทำงานที่ผ่านมาแก่ข้าราชการ กรณีที่ผู้รับบำนาญกระทำความผิดและถูกศาลตัดสินให้ถูกจำคุก หรือเป็นบุคคลล้มละลายทุจริตนั้น ถือเป็นการลงโทษไปแล้ว เพื่อความเป็นธรรมและเสมอภาคกับบุคคลโดยทั่วไป จึงไม่ควรที่จะถูกลงโทษเพิ่มด้วยการตัดสิทธิ์การรับบำนาญหรือบำนาญตกทอดอีก ทั้งนี้ได้มีการถกเถียงกันว่า การเพิ่มสิทธินี้จะเป็นการส่งเสริมให้ผู้รับบำนาญไปกระทำความผิดเพิ่มขึ้นหรือไม่ ทางกรมบัญชีกลางเห็นว่าข้าราชการเมื่อเกษียณอายุราชการไปแล้ว ก็เสมือนประชาชนทั่วไป หากกระทำความผิดใดๆ ก็ย่อมได้รับโทษตามกรณีนั้นๆ ส่วนการให้บำนาญเป็นการตอบแทนการทำงาน และเป็นเงินยังชีพหลังออกจากราชการ เนื่องจากข้าราชการในขณะรับราชการจะไม่ได้สะสมเงินไว้ใช้ แต่หากตัดสิทธิ์การจ่ายเงินบำนาญอีกจะเหมือนกับถูกลงโทษเป็น 2 เท่า” นายมนัสกล่าว
นายมนัสได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการคำนวณบำเหน็จตกทอด โดยให้นำเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ มารวมกับบำนาญรายเดือน เพื่อคูณ 30 เท่า เป็นเงินบำเหน็จตกทอด และการปรับเงินบำนาญพิเศษให้ผู้รับบำนาญพิเศษเหตุทุพพลภาพเมื่อรวมกับเงินบำนาญปกติแล้ว ถ้าไม่ถึง 15,000 บาทต่อเดือน ก็ให้ได้รับบำนาญพิเศษฯ เพิ่มจนครบ 15,000 บาท ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนที่ 25 ก ลงวันที่ 31 มกราคม 2551