กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาว และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เป็น 'AA+(tha)' จาก 'AA(tha)' แนวโน้มเครดิตของอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ 'F1+(tha)'
การปรับอันดับเครดิตสะท้อนถึงการทบทวนความสัมพันธ์ด้านกลยุทธ์ของธุรกิจปิโตรเคมี และโรงกลั่น ต่อบริษัทแม่ หรือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.; อันดับเครดิตที่ AAA(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) หลังจากที่มีการปรับโครงสร้างธุรกิจในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยฟิทช์มองว่ามีความแข็งแกร่งมากกว่าที่ฟิทช์มองไว้ก่อนหน้านี้ ธุรกิจปิโตรเคมี และโรงกลั่น มีความสำคัญด้านกลยุทธ์อย่างมากต่อกลุ่ม ปตท. โดยรายได้จากธุรกิจปิโตรเคมี และโรงกลั่น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31 ของรายได้รวมของกลุ่ม ปตท. ในขณะที่ กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองของกลุ่มในปี 2561 โดยคิดเป็นร้อยละ 28 รองจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 36 ในขณะที่ PTTGC มีความสำคัญด้านกลยุทธ์อย่างมากต่อธุรกิจปิโตรเคมี และโรงกลั่น ของกลุ่ม ปตท. เนื่องจากเป็นผู้รับซื้อวัตถุดิบที่เป็นผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีรายใหญ่ของ ปตท. และ เป็นบริษัทปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดของ ปตท. ดังนั้นฟิทช์ได้เปลี่ยนแปลงการเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นจากสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ PTTGC ซึ่งอยู่ที่ 'aa-(tha)' เป็นสองอันดับ จากหนึ่งอันดับ
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
กำไรที่คาดว่าจะลดลงในปี 2562: ฟิทช์คาดว่า EBITDA ของ PTTGC จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาทในปี 2562 จาก 5.7 หมื่นล้านบาทในปี 2561 เนื่องจากการปรับตัวลดลงของส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภันฑ์ปิโตรเคมี และค่าการกลั่นในปี 2562 นอกนี้กำไรที่ลดลงเป็นผลมาจากปริมาณการขายที่ลดลงจากแผนการหยุดเดินเครื่องเพื่อบำรุงรักษา ของ Aromatics Complex I และ โรงกลั่น ในปี 2562
เงินลงทุนที่สูง: กระแสเงินสดสุทธิของ PTTGC น่าจะติดลบในปี 2562 เนื่องจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานไม่น่าจะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน และการจ่ายเงินปันผล ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนของ PTTGC จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาทในปี 2562 จาก 3.3 หมื่นล้านบาทในปี 2561 เพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการ propylene oxide และ polyol และโครงการ olefins reconfiguration project (ORP) อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO-adjusted net leverage) น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 1.5-1.6 เท่าในปี 2562 จาก 0.9 เท่าในปี 2561 ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.6-1.1 เท่าในปี 2563 และ 2564 เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนลดลงหลังจากการก่อสร้างโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ
กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นช่วยผลักดันการเติบโต: ปริมาณการขายของ PTTGC น่าจะเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากกำลังการผลิตปิโตรเคมีใหม่ที่เพิ่มขึ้น บริษัทได้เริ่มดำเนินการผลิตของโครงการผลิต liner low density polyethylene และ hexane-1 ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกันที่ 434,000 ตันต่อปี ในไตรมาสแรกของปี 2561 และโครงการ Methyl Ester 2 ซึ่งมีกำลังการผลิต 200,000 ตันต่อปี ในไตรมาสแรกของปี 2562 ในขณะที่โครงการ propylene oxide และ polyol และโครงการ ORP ซึ่งจะเริ่มดำเนินการผลิตในปี 2563 จะช่วยผลักดันการเติบโตของบริษัทในช่วงดังกล่าว
การผลิตที่ครบวงจรและต้นทุนการผลิตที่ต่ำ: PTTGC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่ มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่สูง ส่งผลให้บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มากกว่า และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับผู้ผลิตปิโตรเคมีและน้ำมันอื่นๆ ในประเทศ นอกเหนือจากนี้ PTTGC ยังมีความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิตเนื่องจากวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตโอเลฟินส์ คือก๊าซธรรมชาติซึ่งจัดหาได้จากภายในประเทศ และบริษัทยังได้รับประโยชน์จากการที่มีสัญญาการจัดหาวัตถุดิบระยะยาวกับ ปตท. ซึ่งช่วยลดความผันผวนของส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบได้
ความผันผวนตามวัฏจักรของธุรกิจ: อันดับเครดิตของบริษัทถูกลดทอนจากความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ตามวัฎจักรของธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ความผันผวนของอัตราส่วนกำไรของผลิตภัณฑ์ ค่าการกลั่น ราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมัน และความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียน ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อกำไรและกระแสเงินสดของบริษัท นอกจากนี้ PTTGC ยังมีความเสี่ยงจากการพึ่งพาแหล่งวัตถุดิบน้อยแหล่ง เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่มาจาก บมจ. ปตท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท อย่างไรก็ตามความเสี่ยงจากการที่บริษัท รับวัตถุดิบส่วนใหญ่จาก ปตท. ได้ถูกบรรเทาลงจากการที่ ปตท. มีอันดับเครดิตที่แข็งแกร่ง และเป็นผู้ดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ในประเทศไทย
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ PTTGC ได้มีการพิจารณารวมถึงการปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นสองอันดับจากสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone credit profile) ของบริษัทที่ 'aa-(tha)' ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระดับปานกลางระหว่างบริษัท กับ ปตท. โดย PTTGC เป็นบริษัทปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่ม ปตท. และเป็นตัวจักรสำคัญในการขยายธุรกิจปิโตรเคมีของ ปตท. โดยเห็นได้จากการที่ ปตท. ได้โอนธุรกิจปิโตรเคมีให้กับ PTTGC ในปี 2560 นอกจากนี้ PTTGC ยังได้รับผลประโยชน์จากสัญญาการจัดหาก๊าซธรรมชาติกับ ปตท. ซึ่งส่งผลให้บริษัทมีความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิต และสัญญาการซื้อขายผลิตภัณฑ์กับ ปตท. ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับวัตถุดิบได้
สถานะทางเครดิตโดยลำพัง (Standalone credit profile) ของ PTTGC ที่ 'aa-(tha)' สะท้อนถึงขนาดธุรกิจและการผลิตปิโตรเคมีที่ใหญ่ของบริษัท รวมถึงต้นทุนการผลิตที่ต่ำ เนื่องจากการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี สถานะทางธุรกิจของ PTTGC แข็งแกร่งที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทในธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีในประเทศไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต และมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งดังกล่าว PTTGC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าและมีการผลิตปิโตรเคมีที่มากกว่าเมื่อเทียบกับ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP (สถานะเครดิตโดยลำพังที่ 'a+(tha)') นอกจากนี้ PTTGC ยังมีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า TOP
PTTGC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าและมีการกระจายตัวของธุรกิจปิโตรเคมีที่มากกว่าเมื่อเทียบกับ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC (อันดับเครดิตที่ 'A- (tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ; สถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ bbb+(tha)) นอกจากนี้ บริษัทยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่าและมีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่ามาก
สมมุติฐานที่สำคัญ:
ราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ที่ราคา 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2562, 62.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2563, 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2564 และ 57.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2565 เป็นต้นไป โดยมีการปรับปรุงด้วยส่วนต่างราคาน้ำมันตามการซื้อน้ำมันดิบของ PTTGC;
ค่าการกลั่นที่ปรับตัวลดลงในปี 2562
กำไรของธุรกิจอะโรเมติกส์ปรับลดลงเล็กน้อยในปี 2562 และค่อนข้างทรงตัวหลังจากนั้น
กำไรของธุรกิจโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์อนุพันธ์โอเลฟินส์ ปรับลดลงเล็กน้อยในปี 2562 และค่อยๆปรับตัวเพิ่มขึ้นหลัง จากนั้น
ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนจำนวน 1.07 แสนล้านบาท ในปี 2562-2566 ทั้งนี้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายลงทุนที่อยู่ในแผนและค่าใช้จ่ายเพื่อการบำรุงรักษา
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
ระดับความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงาน และความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ระหว่างบริษัท กับ ปตท. ที่เพิ่มสูงขึ้น
การเพิ่มสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัท ยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสองถึงสามปีข้างหน้า เนื่องจากธุรกิจของบริษัทที่ยังเล็กกว่าเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในต่างประเทศ และการที่บริษัทมีรายได้ส่วนใหญ่ที่มาจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีประเภท Commodity ที่มีความผันผวนสูง
ปัจจัยลบ:
FFO-adjusted net leverage ที่สูงกว่า 2.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง จากการลงทุนที่ใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรือ ค่าการกลั่นและส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับราคาวัตถุดิบที่อยู่ในระดับต่ำ
ระดับความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงาน และความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ระหว่างบริษัทฯ กับ ปตท. ที่ลดน้อยลง
สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: PTTGC มีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 5.2 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 ซึ่งมากเพียงพอที่จะรองรับหนี้สินจำนวน 8.3 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดในปี 2562 และกระแสเงินสดสุทธิที่เป็นลบในปี 2562 หนี้ที่จะครบกำหนดชำระในแต่ละปีของ PTTGC ในช่วงสามปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้น โดยมีหนี้ที่ครบกำหนดชำระก้อนใหญ่ในปี 2564-2565 ซึ่งเป็นช่วงที่หุ้นกู้สกุลเงินบาท จำนวนรวม สองหมื่นล้านบาท และ หุ้นกู้สกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ จำนวนหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐฯ จะครบกำหนดชำระ นอกจากนี้สภาพคล่องโดยรวมของบริษัทยังได้รับการสนับสนุนจากกระแสเงินสดสุทธิที่แข็งแกร่ง และความสามารถในการระดมทุนผ่านตลาดทุนจากอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำ