กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--กรมประมง
จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวในประเด็นโซเชียลมีเดียตั้งข้อสังเกตถึงการหายไปของปลาทูในแถบทะเลไทยว่าประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศแรกของโลกที่สามารถเพาะพันธุ์ปลาทูในบ่อดินได้และส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงปลาทูแทนการจับจากธรรมชาติ แต่การจับปลาทูไซส์เล็กยังคงอยู่ ทำปลาทูในธรรมชาติหมดโอกาสที่จะได้ขยายพันธุ์ อีกทั้งยังมีการประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการจับลูกปลาทูขนาดเล็ก ประมาณ 7,000,000 – 8,000,000 บาท ต่อการทำประมง 1 เที่ยว
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ชี้แจงแนวทางการดำเนินการอนุรักษ์ทรัพยากรปลาทู ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาตั้งแต่ในอดีต กรมประมงมีความพยายามที่จะทำการเพาะพันธุ์และเลี้ยงปลาทู เพื่อให้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจของไทย แต่ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาให้สามารถเลี้ยงได้ในเชิงเศรษฐกิจเพื่อที่จะสามารถนำไปส่งเสริมเกษตรกรประกอบเป็นอาชีพได้ในอนาคต
ทั้งนี้ จากการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรปลาทูในช่วงห้าปีที่ผ่านมาที่ทำให้ "ปลาทูในอ่าวไทย" ลดลงเป็นจำนวนมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว กรมประมงได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงได้ร่วมมือกับชาวประมงทั้งพาณิชย์และพื้นบ้าน เพื่อที่จะหามาตรการที่จะควบคุมการทำประมง เพื่อทำให้"ปลาทูในอ่าวไทย" มีจำนวนมากขึ้น โดยเป็นมาตรการที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการ "ปิดอ่าว" ในพื้นที่ประจวบฯ ชุมพร และสุราษธานี ระหว่างวันที่ 15กุมภาพันธ์ – 15 พฤษภาคม ที่มีอยู่เดิมทุกปี ทั้งมาตรการในการควบคุมการทำการประมงที่มีโอกาสที่จับพ่อแม่พันธุ์ปลาทูก่อนที่จะมีการวางไข่ โดยการกำหนดขนาดตาอวนติดตาให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ในช่วงเวลา "ปิดอ่าว" และมาตรการในการควบคุมการทำประมงที่มีโอกาสจับลูกปลาทูที่พึ่งเจริญเติบโต โดยการกำหนดเขตห้ามทำการประมงในพื้นที่ประมาณ 7 ไมล์ทะเล นับจากเขตชายฝั่ง ต่อจากระยะเวลาที่ปิดอ่าวออกไปอีก 1 เดือน ในพื้นที่ "ปิดอ่าว" เดิม
และได้เพิ่มพื้นที่ในการห้ามทำการประมงให้เกิดความเชื่อมต่อกับระหว่างการ "ปิดอ่าวตอนกลาง" และ "ปิดอ่าวตอนใน" พร้อมทั้งได้ปรับเปลี่ยนช่วงเวลาและพื้นที่ในการ "ปิดอ่าวตอนใน" ให้มีประสิทธิภาพในการคุ้มครอง "ปลาทูโตเต็มวัย" ก่อนที่จะกลับมาวางไข่ ซึ่งการออกมาตรการเหล่านี้กรมประมงและชาวประมงทั้งพื้นบ้านและพาณิชย์ ได้ร่วมกันพิจารณาผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งกับ "ทรัพยากรปลาทู" และ "ชาวประมง" อันเป็นความร่วมมือของชาวประมงทั้งพื้นบ้านและพาณิชย์ที่ต่างถอยกันคนละก้าวเพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืนต่อไป ถึงแม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่สามารถทำให้การจับลูกปลาขนาดเล็กหมดสิ้นไปเลย เพราะทุกภาคส่วนต่างยังคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชาวประมง แต่ผลจากการใช้มาตรการ ก็ยังเป็นที่ประจักษ์ว่ามีการพบเห็นปลาทูเพิ่มมากขึ้น
นอกจากมาตรการที่ช่วยกัน "ดูแล" ทรัพยากรปลาทู จากการทำการประมงแล้ว "เราทุกคน" ก็สามารถมีส่วนร่วมได้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรปลาทูได้อย่างง่ายๆ คือ ไม่บริโภคปลาที่มีไข่ หรือ ปลาตัวเล็กๆ ปล่อยให้ปลาเหล่านี้ได้เติบโตมาเป็นอาหารในช่วงเวลาที่เหมาะสมและมีมูลค่าที่เศรษฐกิจดีกว่า หากเราทุกคนช่วยกัน กรมประมงเชื่อมั่นว่าท้องทะเล ทรัพยากรประมง จะกลับคืนความอุดมสมบูรณ์ดังเช่นแต่ก่อนได้อีกครั้ง...อธิบดีกรมประมง กล่าว