กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--เคบีโอ เอิร์ธ
เคบีโอ เอิร์ธ เผย อินเทอร์เน็ตคือตัวเร่งอุณหภูมิโลก เสนอทางแก้ลดการเล่นโซเชียลมีเดีย ลบข้อมูลดิจิทัลที่ไม่จำเป็น และงดการใช้พลาสติกให้มากที่สุด
เคบีโอ เอิร์ธ (KBO Earth) หน่วยงานภายใต้มูลนิธิโนอิ้งบุดด้า เพื่อการปกป้องพระพุทธศาสนา (Knowing Buddha Organization: KBO) เปิดตัวแคมเปญใหม่ในงานสัมมนาโลกร้อนที่จัดขึ้นในวันนี้ เสนอประเด็นใหม่ที่ไม่เคยมีการพูดถึงมาก่อนว่า อินเทอร์เน็ตคือตัวเร่งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก พร้อมเสนอทุกฝ่ายลดการเล่นโซเชียลมีเดีย และ ลบข้อมูลดิจิทัลที่ไม่จำเป็น เพื่อลดปริมาณความร้อนมหาศาล อันเกิดจากการส่มงถ่ายข้อมูลดิจิทัล และการทำงานอย่างหนักของศูนย์ข้อมูลทั่วโลก
ข้อเสนอเหล่านี้คือทางออกที่จะช่วยหยุดยั้งอุณหภูมิในบรรยากาศโลกที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนส่งผลให้สภาพภูมิอากาศเกิดความแปรปรวนและแสดงผลออกมาในรูปของภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ซึ่งล่าสุด ทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การสหประชาชาติได้ออกมายืนยันเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วว่า มนุษยชาติเหลือเวลาเพียง 12 ปีเท่านั้นที่จะทำทุกวิถีทางที่จะไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
โดยในงานสัมมนา "ทางออกจากวิกฤตโลกร้อน กับความจริงที่ไม่มีใครพูดถึง" นั้น ทางมูลนิธิได้รับเกียรติจากรองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม น.อ. สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ มาเป็นประธานในพิธี และอธิบดีกรมป่าไม้ คุณอรรถพล เจริญชันษา มาบรรยายพิเศษในหัวข้อ "ความหวังผืนป่าไทย สู้วิกฤตภาวะโลกร้อน" นอกจากนั้น ยังมีเจ้าหน้าที่จากภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรภาคประชาชนตอบรับมาร่วมงานสัมมนากว่า 400 คน ซึ่งจัดขึ้น ณ สโมสรทหารบก
ประธานองค์กรโนอิ้ง บุดด้า อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวในความเป็นจริงแล้วคือการหันกลับมาใช้ชีวิตอิงวิถีธรรมชาติมากขึ้น ไม่ใช่การหันหลังให้กับความเจริญและนวัตกรรมยุคใหม่ "เราไม่ได้ปฏิเสธเรื่องก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และพลาสติก เพราะทั้ง 2 สิ่งนี้คือตัวการก่อกำเนิดโลกร้อน แต่อินเทอร์เน็ตและข้อมูลดิจิทัล คือตัวเร่งสำคัญที่คนไม่เคยรับรู้ จึงทำให้ไม่มีใครตระหนักถึงผลกระทบอันรุนแรงที่เกิดขึ้นกับโลก ซึ่งเป็นดั่งเหรียญอีกด้านหนึ่งถูกมองข้ามไป" อาจารย์อัจฉราวดีกล่าว พร้อมทั้งย้ำว่า มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อลดโลกร้อนยังจำเป็นอยู่
"สิ่งที่เราทุกคนทำได้ทันทีคือกำหนดเวลาหยุดใช้อินเทอร์เน็ตให้เป็นประจำ เช่น ไม่เล่นอินเทอร์เน็ตในช่วงเวลา 06.00 – 10.00 น. ทุกวันอาทิตย์ หรือ '4 Hours of No WIFI' ซึ่งคล้ายๆ กับแคมเปญ The Earth Hour เพียงแต่ในกรณีนี้เราไม่สามารถทำเพียงปีละหนได้ เพราะปัญหานี้ต้องการแก้ไขอย่างทันทีและสม่ำเสมอ นอกจากนี้ มนุษย์ต้องลดการพัฒนานวัตกรรมทางอินเทอร์เน็ตลง และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น"
ร.อ. พิทักษ์ ตีรณกุล รน. กรรมการผู้บริหารองค์กรเคบีโอ เอิร์ธ และผู้เชียวชาญด้านวิระบบเรดาร์และคลื่นไมโครเวฟ กล่าวว่า คุณสมบัติของคลื่นอินเทอร์เน็ตและไว-ไฟ ซึ่งเป็นคลื่นไมโครเวฟ ด้วยคุณสมบัติของคลื่นที่ก่อให้เกิดความร้อนจากการสั่นสะเทือน และเสียดสีของโมเลกุลของไอน้ำที่อยู่ในบรรยากาศ เมื่อคลื่นนี้วิ่งผ่าน ส่งผลให้บรรยากาศโลกร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะปริมาณความหนาแน่นของคลื่นนั้นมีกำลังมหาศาล จากถูกส่งออกมาจากสถานีรับ-ส่งคลื่นสัญญาณและโทรศัพท์สมาร์ทโฟนทั้งหมดกว่า 5 พันล้านหน่วยรวมกันทั่วโลก
สำหรับในส่วนของประเทศไทย น.อ. สมศักดิ์ กล่าวว่า แม้ว่าจะมีนโยบายที่จะพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลให้มากที่สุด มีเป้าหมายให้ประชาชนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่เพิกเฉยในเรื่องการอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยที่ผ่านมา รัฐบาลประสบความสำเร็จในการทวงพื้นที่ป่าจากนายทุนบุกรุกได้หลายแสนไร่
นอกเหนือไปจากการลดการพึ่งพาอินเทอร์เน็ตในทุกด้านของชีวิต การเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยการปลูกป่าและปลูกต้นไม้ภายในบริเวณที่อยู่อาศัยก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องทำ เนื่องจากต้นไม้สามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนและปล่อยความเย็นให้กับสิ่งแวดล้อมรอบๆ ได้เป็นอย่างดี
อธิบดีกรมป่าไม้ นายอรรถพล กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันรักษาไม่ให้พื้นที่ป่าไม้ลดลงและเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศ โดยให้มีการปลูกต้นไม้มากขึ้นทั้งในพื้นที่ของรัฐและเอกชนโดยการส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ เริ่มจากการแก้กฎหมายป่าไม้ให้สามารถนำไม้ที่ปลูกมาใช้สอยและค้าขายได้ง่ายขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย และร่วมมือกับประชาชนและภาคเอกชนขยายโครงการปลูกป่าให้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้เกินกว่าครึ่งของพื้นที่ประเทศไทย
หลังจากนี้ เคบีโอ เอิร์ธ มีแผนเตรียมการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนเร่งเพิ่มการปลูก และฟื้นฟูป่าไม้ เพื่อกักเก็บก๊าซคาร์บอน และเพิ่มความเย็นให้กับพื้นผิวโลกให้มากที่สุดต่อไป นอกเหนือจากการรณรงค์ทางโซเชียลมีเดีย และการเร่งให้ความรู้แบบเข้าถึงตัวเช่นการแจกโบรชัวร์ ขณะเดียวกันก็จะประสานส่งข้อมูลนี้ไปยังองค์กรต่างๆ ที่ทำงานด้านโลกร้อน ส่งจดหมายถึงองค์การสหประชาชาติและนาซา ให้ทำการศึกษา
ประเด็นนี้เพิ่มเติม รวมถึงขอความร่วมมือไปยังผู้ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ต เช่น กูเกิ้ล เฟซบุ๊ค ไลน์ ในการจำกัดปริมาณการเก็บดิจิทัลดาต้า
ล่าสุด เคบีโอ เอิร์ธ ได้ตีพิมพ์หนังสือที่รวบรวมข้อมูลของผลกระทบและความเกี่ยวข้องของคลื่นอินเทอร์เน็ตกับสภาวะโลกร้อนไว้อย่างละเอียดแล้วในหนังสือ "มหันตภัยโลกร้อนกับความจริงที่ไม่มีใครพูดถึง" ที่เพิ่งวางจำหน่ายไปเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยวิทยากรทุกท่าน เป็นส่วนหนึ่งของทีมนักเขียนด้วย ไม่ว่าจะเป็น ร.อ. พิทักษ์ ดร.กนกรส ผลากรกุล นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ เจ้าของนวัตกรรมระดับประเทศและต่างประเทศมากมาย ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของบ. ปตท. จำกัด และคุณพีรพงษ์ เจียรณัย นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านระบบไอทีระดับนานาชาติ และช่วงท้าย ยังได้นำเสนอและถกประเด็นของข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากหลายมุมมอง โดยข้อมูลเหล่านี้ต่างรองรับ และสอดคล้องกันทั้งจากมุมมองทางวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อย่างน่าสนใจ โดยหนังสือมีจำหน่ายในร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป