กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 19 จังหวัดภาคกลางและภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนักและคลื่นลมแรงในช่วงวันที่ 24 – 26 มิถุนายน 2562 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่จากข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ภาคกลางและภาคใต้จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากและคลื่นลมแรง เนื่องจากหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวไทย และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคกลางและภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ระหว่างวันที่ 24 – 26 มิถุนายน 2562 อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำท่วมขัง น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานจังหวัด 19 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคกลาง 8 จังหวัด ได้แก่ นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ 11 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและจังหวัดในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย นอกจากนี้ ได้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเล จัดเตรียมเครื่องมือประจำเรือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำให้พร้อมใช้งาน อีกทั้งกำชับสถานประกอบการในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวห้ามประกอบกิจกรรมทางทะเลทุกประเภทในช่วงที่มีคลื่นลมแรง ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด รวมถึงระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนฟ้าคะนองอยู่ให้ห่างจากต้นไม้ สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ป้ายโฆษณา และเสาไฟฟ้าในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป