กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--อเกต คอมมิวนิเคชั่น
หากมองถึงการยกระดับการศึกษาไทยให้มีคุณภาพคงไม่อาจมองภาพเพียงการพัฒนานักเรียนและครูผ่านกลไกต่างๆ แต่ต้องมองย้อนไปถึงต้นทางของการผลิตครูอย่าง "ครุศึกษา" หรือคณะที่เปิดสอนด้าน "ครุศาสตร์ / ศึกษาศาสตร์" ว่ามีกระบวนการเตรียมการและสร้าง "ว่าที่ครู" อย่างไร เพื่อออกไปเป็น "ครูคุณภาพ"กระนั้น ที่ผ่านมาครุศึกษาของไทยยังไม่ถูกหยิบยกมาพูดถึงเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่มีความสำคัญไม่แพ้ประเด็นการศึกษาในมิติอื่นๆ
ในโอกาสการสถาปนา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ครบรอบ 49 ปี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงจับมือ บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ภาคเอกชนที่ขับเคลื่อน การศึกษาไทย ผ่านการจัดงาน มหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู (EDUCA) ร่วมกันจัดงาน เสวนาวิชาการ EDUC SU Forum: Reimaging Teacher Education สะท้อนมุมมองครุศึกษาไทยในปัจจุบัน และความคิดเห็นต่อทิศทางครุศึกษาไทยในอนาคต ณ ห้องกิจกรรมอาจารย์ ชั้น 2 อาคารศึกษา 3 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อเร็วๆ นี้
โดย ผศ.ดร.มาเรียม นิลพันธุ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นอีกหนึ่งสถาบันการศึกษาที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนครุศึกษาของไทย เห็นได้จากการก่อตั้ง คณะศึกษาศาสตร์มาตั้งแต่ พ.ศ.2513 โดยมี ศ.มล.ปิ่น มาลากุล ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนั้น เป็นผู้รักษาการคณบดีคนแรกของคณะศึกษาศาสตร์ ด้วยปณิธานที่ต้องการผลิตและพัฒนาครูในพื้นที่ รวมถึงสร้างรากฐานของการพัฒนาวิชาชีพครูให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น "ที่ผ่านมาครุศึกษามีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ โดยเฉพาะเรื่องหลักสูตรในการผลิตครู ซึ่งปีการศึกษา 2562 จะทำการเปิดสอนหลักสูตร 4 ปี จากเดิมที่เป็นหลักสูตร 5 ปี ส่งผลให้รูปแบบการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูไม่เหมือนเดิม คือ นักศึกษา ชั้นปีที่ 1-3 ต้องฝึกงานปีการศึกษาละ1 เดือน และในชั้นปีที่ 4 ต้องฝึกงาน 1 ภาคเรียน ซึ่งจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เล็งเห็นว่ามีความสำคัญ การจัดเสวนาครั้งนี้จึงมีแนวคิด Reimaging Teacher Education เพื่อฉายภาพให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นของวิชาชีพครู และทิศทางด้านครุศึกษาที่ต้องเดินหน้าต่อไป"
ด้าน ดร.ณรินทร์ ชำนาญดู ผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ จังหวัดกาญจนบุรี สะท้อนความคิดเห็นว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนครุศึกษามีอยู่จำนวนมาก และมีความหลากหลายของสาขาวิชา แต่วิชาเอกที่เปิดสอนส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียน ส่งผลให้นักศึกษาที่จบออกมานั้นต้องไปเป็นครูในสาขาวิชาที่ไม่ตรงกับที่เรียนมา เช่น เรียนสาขาวิชาเอกพละแต่ต้องไปเป็นครูวิชาภาษาไทย ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพการเรียนการสอนอย่างมาก"ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยจะต้องลงไปทำงานใกล้ชิดกับโรงเรียนเลยว่าเขาอยากได้ครูสาขาวิชาเอกใดบ้าง เพื่อจะได้รู้ข้อมูลที่แท้จริง และผลิตครูได้ตรงกับความต้องการ รวมถึงอาจส่งครูเข้าไปช่วยสอน เพื่อสร้างความประทับใจให้กับนักเรียน ทำให้เกิดการจดจำ และเลือกที่จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยนั้นๆ ซึ่งจะช่วยอุดช่องว่างปัญหามหาวิทยาลัยขาดแคลนผู้เรียนได้อีกทางหนึ่ง"
ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยควรมีการจัดหลักสูตรแบบผสมสานที่มีความเกี่ยวข้องกัน เช่น สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ผสมกับภาษาอังกฤษ เพื่อเพิ่มองค์ความรู้และศักยภาพให้กับครูได้นำไปต่อยอดกับการทำงานจริง อันสอดคล้องกับความคิดเห็นของ ดร.มนต์เมืองใต้ รอดอยู่ ผู้อำนวยการโรงเรียนราชินีบูรณะ จังหวัดนครปฐม ซึ่งมองว่าการผลิตครูของมหาวิทยาลัยยังไม่ตรงกับความต้องการของโรงเรียน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ของมหาวิทยาลัยในปัจจุบันที่ต้องเลี้ยงดูตัวเอง จึงเปิดสาขาวิชาต่างๆ เพื่อดึงดูดผู้เรียน โดยไม่ได้คำนึงว่าหลักสูตรนั้นๆ เป็นที่ต้องการของโรงเรียนหรือไม่ แตกต่างจากเมื่อก่อนที่มหาวิทยาลัยมีจำนวนไม่มาก และมีความเชี่ยวชาญในการการผลิตครูอย่างแท้จริง "มหาวิทยาลัยต้องปฏิรูปครุศึกษาใน 4 ด้าน คือ หลักสูตร, ครู, วิธีการสอน และวิธีการประเมินผลที่ควรทำการประเมินเชิงประจักษ์กับนักเรียน และหากต้องการให้ครุศึกษาสร้างการเปลี่ยนแปลงกับการศึกษาไทย จะต้องมีการปรับเงินเดือนของครูให้ติดระดับท็อป เพื่อกระตุ้นให้เด็กหันมาสนใจอาชีพนี้ และเมื่อผนวกกับมาตรฐานการผลิตครูของมหาวิทยาลัยก็จะยิ่งทำให้ได้ครูที่พร้อมออกสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ"
ขณะที่ ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อุปนายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากร สะท้อนถึงรูปแบบของครุศึกษาที่ดีว่า จะต้องสร้างครูให้มีคุณลักษณะ 4มิติ คือ พร้อมรับมือกับการเรียนรู้, ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต, เป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นนักวิชาชีพที่สนใจใฝ่รู้ตลอดเวลา ซึ่งการจะทำให้เกิดขึ้นได้นั้น องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ระบุว่าจะต้องดึงดูดคนดีคนเก่งเข้ามาเป็นครู มีแนวทางรักษาให้อยู่ในระยะยาว รวมถึงมีเงินเดือนที่เหมาะสม และบรรยากาศในการทำงานที่ดี "ภาพลักษณ์ของครุศึกษาที่สื่อสารไปสู่สาธารณะในตอนนี้ถือว่ายังดูไม่ทันสมัย คนมองว่าครูเป็นคนดี หรือเป็นแม่พระอย่างเดียว ซึ่งถึงเวลาแล้วที่มหาวิทยาลัยต้องสื่อสารเพิ่มเติมว่า คนที่เป็นครูนั้นก็มีความสมาร์ทด้วย เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้ามาเรียน ครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์มากขึ้น"
นอกจากนั้น ครุศึกษาของไทยต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพอย่างเข้มข้น คือไม่เพียงแต่การฝึกประสบการณ์วิชาชีพระหว่างเรียนเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงการฝึกอบรมครูในระหว่างการทำงานอย่างด้วยเช่นกัน เพื่อพัฒนาครูอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพมากที่สุด
ดร.นิภาพร กุลสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า ครุศึกษาถูกคาดหวังสูงในหลายเรื่อง แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบาย, งบประมาณ และการวิจัย ซึ่งคณะศึกษาศาสตร์หรือครุศาสตร์ต้องเป็นกระบอกเสียงไปยังภาคนโยบาย ขณะเดียวกัน ภาคนโยบายควรปรับวิสัยทัศน์ว่าครุศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ และนำทรัพยากรมาลงด้านนี้ "ครุศึกษาของไทยจะพัฒนาได้นั้นจะต้องวางให้เป็นวิชาชีพชั้นเลิศที่มีการพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ผ่านผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ระยะยาว รวมถึงได้รับทรัพยากรสนับสนุนทั้งด้านคน, งบประมาณ และงานวิจัย ทั้งนั้น ต้องมองว่าการศึกษาเป็นบริการที่ให้กับสาธารณะ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองลูกค้าหรือธุรกิจ แต่เป็นประโยชน์ในการสร้างคนของประเทศ ซึ่งการสร้างหรือบ่มเพาะครูที่มีคุณภาพจะตอบโจทย์เด็กทั้งประเทศได้"