กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--สำนักงาน กปร.
พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วยพลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้วอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลท่างิ้ว อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2533 ตามที่ราษฎรตำบลท่างิ้ว อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง
ขอพระราชทานเนื่องจากประสบปัญหาความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และการอุปโภค-บริโภค
การนี้ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ได้กล่าวว่า จากที่รับฟังข้อมูลจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ
อ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้วแล้ว ดีใจที่ประชาชนในพื้นที่ทุกคนได้รับประโยชน์จากโครงการฯ และขอชมเชยกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ช่วยกันทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ดูแลประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเท่าเทียมกันเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม
ทุกโครงการที่เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งในหลวงรัชการที่ 9 ทรงพระราชทาน ล้วนแต่เกิดจากความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทั้งสิ้น
"โครงการอ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้ว ก็มีผู้ถวายฎีกาขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณขอความช่วยเหลือมาตั้งแต่ปี 2532 ต่อมาปี 2533 พระองค์ท่านทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ใช้เวลา 6-7 ปี จึงก่อสร้างแล้วเสร็จ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อปวงชนชาวไทยมาอย่างยาวนาน ตราบจนรัชกาลปัจจุบัน พระองค์ท่านมีพระราชปณิธานแน่วแน่ ที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด จะปกครองแผ่นดินโดยธรรมเช่นเดียวกับรัชกาลที่ 9 เพื่อประโยชน์แก่อาณาประชาราษฎร์สืบไป ก็ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น จะเป็นที่พึ่งของประชาชนตลอดเวลา ยามที่ประชาชนเดือดร้อนพระองค์ท่านก็พระราชทานความช่วยเหลือมาให้ ก็ขอให้ทุกคนช่วยกันรักษาโครงการนี้ไว้ ให้ได้รับประโยชน์ต่อไปอย่างยั่งยืน" องคมนตรี กล่าว
พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ประชาชนในพื้นที่จะช่วยเหลือสังคมได้ในฐานะผู้อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ก็คือการรักษาสภาพแวดล้อม ช่วยกันรักษาป่าไม้เพื่อให้ฝนตกตามฤดูกาล ไม่ทำลายธรรมชาติ หากทำลายมากเท่าไหร่ ภัยจากธรรมชาติก็จะย้อนกลับมาเล่นงานมากขึ้นเท่านั้น ปัจจุบันเกิดโลกร้อน
ซึ่งประเทศไทยได้ทำลายสถิติไปแล้วคือร้อนเกินกว่า 43 องศา ซึ่งในอนาคตอีก 4-5 ปีข้างหน้า หากไม่ช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อม ไม่รักษาทรัพยากรธรรมชาติ ความร้อนจากสภาพอากาศอาจจะถึง 50 องศาก็เป็นได้ ซึ่งในขณะนี้ในบางประเทศก็มีความร้อนมากถึง 50 องศาแล้ว สิ่งนี้นับว่าสำคัญมาก ก็ขอให้ประชาชนทุกคนช่วยกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ไว้ให้คงสภาพอย่างสมบูรณ์สืบไป
ทางด้าน นางเปรมรินทรี อักษร ราษฎรอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง หนึ่งในผู้ได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้วกล่าวว่า เมื่อก่อนมีอาชีพรับจ้างทั่วไป มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายจึงหันมาพลิกฟื้นพื้นที่ 10 ไร่ที่มีอยู่
ปลูกพืชผักหลากหลาย เช่น ชะอม เสาวรส และหม่อน ผักที่ปลูกประมาณ 7 วัน ก็สามารถตัดมาขายได้ โดยนำไปขายที่ตลาดนัดห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ผักทุกชนิดที่นำไปขายจะสดใหม่เพราะตัดช่วงเช้า ช่วงบ่ายเอาไปขาย
และขายหมดทุกวัน เพราะปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งขายได้ราคาที่ดีกว่าผ่านพ่อค้าคนกลาง
และผู้บริโภคนิยม
"ปลูกเอง ขายเอง ไม่ส่งพ่อค้าคนกลาง ทำให้ราคาขายแม้จะสูงกว่าแปลงที่ปลูกโดยใช้สารเคมี แต่ก็ยังต่ำกว่าที่พ่อค้าคนกลางมารับไปขายต่อ เพราะเขาต้องเอากำไรด้วยจึงทำให้ราคาสูง ที่สำคัญคือ มีน้ำเพียงพอในการนำมาใช้กับแปลงเพาะปลูก ในพื้นที่จะขุดสระรับน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้วมาเก็บไว้ใช้และมีตลอดทั้งปี ซึ่งจะช่วยยกระดับน้ำ
ใต้ดินในพื้นที่ให้สูงขึ้น ทำให้พื้นที่มีความชื้นดี ปลูกผักเจริญเติบโตดี ซึ่งหากไม่มีอ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้วก็คงจะทำอาชีพนี้ไม่ได้เพราะน้ำไม่เพียงพอ" นางเปรมรินทรี อักษร กล่าว
/อ่างเก็บน้ำ...
2
อ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้ว มีขนาดความจุเก็บกักน้ำที่ 18.50 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งการส่งน้ำด้วยระบบท่อส่งน้ำ จำนวน 5 สาย ความยาวรวม 19.04 กิโลเมตร พื้นที่ได้รับประโยชน์ 5,200 ไร่ และส่งน้ำโดยลงสู่ตามลำน้ำเดิม (คลองธรรมชาติ) ความยาวรวม 27 กิโลเมตร มีอาคารชลประทานขนาดเล็กตั้งอยู่เป็นช่วง ๆ ของลำน้ำ ทำหน้าที่กระจายน้ำ
เข้าสู่แปลงเพาะปลูกของราษฎรมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 12,700 ไร่
นอกจากประโยชน์ในด้านการเพาะปลูกแล้ว ยังสามารถส่งน้ำดิบให้แก่การประปาส่วนภูมิภาค สาขาห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง วันละ 9,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อจ่ายน้ำให้กับราษฎร 5,191 ครัวเรือน ส่งน้ำเพื่อการประปาหมู่บ้านวันละ 1,440 ลูกบาศก์เมตร สามารถช่วยเหลือราษฎร 1,964 ครัวเรือน และยังส่งน้ำให้กับเกษตรกรที่ทำฟาร์ม
ไก่เนื้อ การเลี้ยงปลาในกระชัง รวมถึง เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในการพายเรือเข้าท่องเที่ยวถ้ำเลเขากอบในช่วงหน้าแล้งอีกด้วย นับเป็นอีกหนึ่งโครงการในการบริหารจัดการน้ำให้กับพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ให้ได้มีน้ำใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆอย่างเพียงพอในทุกฤดูกาล