กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--กรมประมง
ปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสนใจกับการบริโภคอาหารที่สด สะอาด ปลอดภัย ไร้สารตกค้างกันมากขึ้น ดังนั้น ประเทศไทย ประเทศผู้เป็นหนึ่งฐานการผลิตสินค้า วัตถุดิบสำหรับทำอาหาร ซึ่งเปรียบเสมือนครัวโลก จึงต้องหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับเรื่องการผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคด้วยเช่นกัน
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ได้ให้นโยบายและวางแนวทางในเรื่องนี้ ว่ากรมประมงในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและดูแลตรวจสอบรับรองสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน จึงต้องเผยแพร่ความรู้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผู้ประกอบการตลอดสายการผลิต ถึงแนวทางวิธีการในการผลิตสัตว์น้ำให้ปลอดภัยต่อการบริโภค
ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กรมประมง ได้มีการลงพื้นที่ทั่วประเทศ ให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์การเกิดโรคในสัตว์น้ำ เพื่อให้รู้ทัน รู้จักและเข้าใจโรคแต่ละชนิดมากขึ้น รวมถึงการประเมินการวิเคราะห์ความเสี่ยงของการเกิดโรค การเฝ้าระวังโรคในฟาร์ม การตรวจติดตามการเกิดโรค รวมทั้งหลักการจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพลดปัญหาการเกิดโรคระบาด และการใช้ยาที่ไม่สมเหตุสมผล รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องของการใช้ประโยชน์ทรัพยากรน้ำร่วมกันอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องต่างๆ เหล่านี้ เป็นทิศทางและกระแสการผลิตสัตว์น้ำของโลกด้วย นอกจากนี้ เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม – ต้นเดือนมิถุนายนนี้ ยังได้ร่วมกับเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย จัดงานสัมมนา "ชูกุ้งไทยสู่ความยั่งยืน ยกมาตรฐานกุ้งไทย สด สะอาด รสชาติดี ปลอดสารพิษ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" ในพื้นที่ทางภาคตะวันออกและภาคใต้ รวม 11 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ปัตตานี สตูล ตรัง กระบี่ พังงา และระนอง โดยมีเกษตรกรจากชมรมผู้เลี้ยงกุ้ง 16 ชมรม รวมแล้วกว่า 900 คน ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังการสัมมนากันมาก ทั้งนี้ ภายในงานสัมมนามีการบรรยายและให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างความเข้าใจในการใช้ยาและเคมีภัณฑ์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมทั้ง เรื่องของกระบวนการจัดการน้ำที่ใช้เลี้ยงสัตว์น้ำก่อนที่จะทิ้ง เพื่อไม่ให้เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ในงานสัมมนาดังกล่าว ผู้เข้าร่วมงานยังได้แสดงเจตจำนงร่วมกันในเรื่องของความตั้งใจที่จะลดการใช้ยาต้านจุลชีพที่ไม่สมเหตุสมผลทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา สารตกค้างในกุ้ง และเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรมกุ้งไทยที่ทั้งระบบ ดังนั้น การจัดงานดังกล่าว ถือเป็นการช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งไทยเกิดความยั่งยืน และยังเกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศไทยด้วย และจากการติดตามผลหลังจากที่เกษตรกรได้รับความรู้ไปนั้น
พบว่าเกษตรกรมีความสนใจกระตือรือร้น ตอบรับนโยบายและมุ่งมั่นที่จะผลิตสัตว์น้ำให้มีความสด สะอาด ไร้สารตกค้าง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคกันมากข้น ดังนั้น แนวทางการดำเนินการดังที่ผ่านมานี้ถือเป็นการทำงานเชิงรุก เพราะเจ้าหน้าที่กรมได้ลงพื้นที่ชนิดที่เรียกว่าเคาะประตูกันถึงบ้านจัดการส่งเสริมความรู้กันถึงที่ทีเดียว ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เป็นเกษตรกรอัจฉริยะ (Smart Farmer) ในการผลิตสินค้าสัตว์น้ำให้มีคุณภาพได้มาตรฐานสากลมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการสร้างจุดแข็งของไทยในการช่วยเพิ่มขีดความแข่งขันในการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำของประเทศไทยกับประเทศคู่ค้าได้อย่างมาก