กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--สำนักงาน กปร.
พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วยพลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านห้วยต่อน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เมื่อวันก่อน
โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านห้วยต่อน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกา
ธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 ตามที่องค์การบริหารส่วนตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา ขอพระราชทานโครงการฯ เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ตำบลบ่อหิน ตำบลนาเมืองเพชร และตำบลไม้ฝาด รวมทั้ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ซึ่งประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคในฤดูแล้งมาอย่างยาวนาน
ตำบลไม้ฝาดเป็นตำบลเก่าแก่ ตั้งมาตั้งแต่ปี 2437 จนถึงปัจจุบันมีอายุมากกว่า 100 ปี ประชาชนส่วนใหญ่ พูดภาษาไทยภาคใต้ นับถือศาสนาพุทธและอิสลาม ตั้งอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ประกอบไปด้วย 7 หมู่บ้าน ภูมิประเทศโดยทั่วไปมีลักษณะทั้งที่ราบลุ่มและที่ราบค่อนข้างสูง ดินเป็นดินทรายที่ราบเชิงเขาและติดชายฝั่งทะเลอันดามัน พื้นที่ราบมีเนื้อที่ประมาณร้อยละ 65 ของตำบล ส่วนพื้นที่ราบลุ่มมีเนื้อที่ประมาณร้อยละ 20 ของพื้นที่ และที่ราบค่อนข้างเป็นลูกคลื่นและติดต่อกับทะเล มีเนื้อที่ประมาณร้อยละ 15 ของพื้นที่ มีลำน้ำธรรมชาติไหลผ่าน คือลำน้ำหนานสูง และลำน้ำตกอ่างทอง ซึ่งมักจะแห้งขอดในช่วงฤดูแล้ง
ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ ทำสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และทำการประมง ประชากรบางส่วนจะประกอบอาชีพมากกว่าหนึ่งอาชีพควบคู่กันไปด้วย คือ การรับจ้างและทำเกษตรกรรม หรือทำการประมง
นางปราณี ไออินทร์ ราษฏรตำบลไม้ปาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในพื้นที่มีปัญหาเรื่องน้ำมาก ในบางปีต้องเดินทางไปยังบ่อน้ำที่ขุดขึ้นมาและต้องรอคิวเพื่อตักน้ำในบ่อขึ้นมาใช้ เนื่องจากมีประชาชนเดินทางมา
ตักน้ำไปใช้จำนวนมาก ต่อมามีระบบประปาหมู่บ้านแต่ก็มีปัญหาอีก เพราะไม่มีแหล่งน้ำต้นทุน ประชาชนในพื้นที่ก็มีน้ำใช้ไม่เพียงพอเช่นเดิม ประชาชนส่วนใหญ่ปลูกพืชผักทั้งบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายสร้างรายได้ แต่มีน้ำไม่เพียงพอ ผลผลิตจึงออกมาไม่ดีทำให้ขาดรายได้ตลอดมา ทุกคนจึงรอแหล่งน้ำ
"เมื่อได้อ่างเก็บน้ำบ้านห้วยต่อน้อยฯ ประชาชนในพื้นที่ต่างก็มีความหวังว่าการทำกินก็คงจะไม่เดือดร้อนเหมือนที่ผ่านมา รู้สึกปลื้มใจและมีกำลังใจที่จะประกอบอาชีพมากขึ้นเพราะปลูกพืชผักแล้วไม่ตาย สามารถตัดเก็บมากินและขายได้ ชีวิตก็คงจะดีขึ้นกว่าเดิมมากทีเดียว" นางปราณี ไออินทร์ กล่าว
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านห้วยต่อน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 2 ปี (ปี 2561 - 2562) โดยในปีงบประมาณ 2561 กปร. ได้อนุมัติงบประมาณให้ กรมชลประทานไปดำเนินการก่อสร้าง ขณะนี้มีผลการดำเนินงานคิดเป็นร้อยละ 80 ของการดำเนินการก่อสร้างทั้งหมด คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2562 โดยอ่างเก็บน้ำห้วยต่อน้อยฯ มีขนาดความจุของอ่างเก็บน้ำประมาณ 400,000 ลูกบาศก์เมตร เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ ราษฎรบ้านห้วยต่อ หมู่ที่ 1 บ้านห้วยต่อน้อย หมู่ที่ 2 บ้านไม้ฝาด หมู่ที่ 3 บ้านปากเม็ง หมู่ที่ 4 และบ้านนาหละ หมู่ที่ 7 ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ประมาณ 2,700 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 8,100 คน จะมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี และเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำของโครงการฯ เอื้อประโยชน์ต่อราษฏรในพื้นที่อย่างทั่วถึง ราษฏรผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ จึงจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการฯ
นายหวิง ช่วยธานี ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำเปิดเผยว่า ในการก่อสร้างของโครงการฯ จะต้องมีการปรับพื้นที่
ซึ่งเป็นสวนยางพารา เจ้าของสวนทุกคนจึงพร้อมใจกันยกพื้นที่ให้ตามที่ต้องการใช้ทั้งหมด โดยยินยอมให้มีการตัดโค่นต้นยางพาราที่ปลูกมาแล้วประมาณ 7 ปี โตพอกรีดได้รวมประมาณ 900 กว่าต้น โดยไม่เรียกร้องค่าเสียหายอะไรเลย ตลอดถึงแนววางท่อส่งน้ำไปยังพื้นที่ของราษฏรในหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านให้ได้ใช้ประโยชน์อีก 17 กิโลเมตร เจ้าของพื้นที่ก็ไม่เรียกร้องค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น เช่นกัน
ในการบริหารจัดการน้ำ แม้โครงการยังไม่แล้วเสร็จ ก็ได้มีการจัดตั้งขึ้นมาแล้วเพื่อรองรับการบริหารโครงการฯ โดยการรวมผู้นำหมู่บ้านทั้งหมดที่ระบบส่งน้ำไปถึงมาร่วมกันทำหน้าที่บริหาร พร้อมตั้งผู้บริหารกลุ่มผู้ใช้น้ำย่อยประจำหมู่บ้านขึ้นเพื่อให้ทุกคนในแต่ละพื้นที่มีส่วนช่วยกันดูแล ซึ่งทุกหมู่บ้านให้การตอบรับเป็นอย่างดีและเห็นด้วยกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำในรูปแบบนี้
"ทุกคนซาบซึ้งน้ำพระทัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงรับโครงการนี้ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อประโยชน์ของราษฏรในพื้นที่ ซึ่งตอนนี้การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ รัชกาลที่ 10 ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด ก็ทำให้โครงการฯนี้ เดินหน้าต่อไปและคงจะแล้วเสร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ การได้มาซึ่งโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านห้วยต่อน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของราษฏรตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ทุกคนปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ แม้ไม่มีรัชกาลที่ 9 แล้ว เราก็ยังมีรัชกาลที่ 10 ก็เหมือนกับพวกเราทุกคนยังมีพ่ออยู่ "นายหวิง ช่วยธานี กล่าว