กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--บี.กริม เพาเวอร์
เริ่มแล้วงาน "เทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย ประจำปี 2562" ภายใต้หัวข้อ "เพราะทุกสิ่งไม่หยุดนิ่ง" เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกายตนเอง และเปิดโลกกว้างไปสู่การเคลื่อนไหวของสิ่งต่าง ๆ โดยการฝึกการเป็นนักสังเกตสิ่งรอบตัว วิเคราะห์ ตั้งคำถามและค้นหาคำตอบด้วยตนเอง พร้อมจัด 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ 25 มิ.ย. - 31 ส.ค. 2562
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 ได้มีการจัดพิธีเปิดงาน "เทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย ประจำปี 2562" ภายใต้หัวข้อ "เพราะทุกสิ่งไม่หยุดนิ่ง" โดย มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บี.กริม, บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 อาคารจัตุรัสจามจุรี สามย่าน กรุงเทพฯ
นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้แทนกรรมการ โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย มีต้นแบบมาจากมูลนิธิบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศเยอรมนี มีเป้าหมายสำคัญ คือ ปลูกฝังความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็กตั้งแต่ปฐมวัยอายุระหว่าง 3 – 6 ขวบ ปัจจุบันได้ดำเนินโครงการเข้าสู่ปีที่ 9 ซึ่งได้ขยายผลกว่า 22,245 โรงเรียนทั่วประเทศ ผ่านผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น 235 แห่ง โดยมีกิจกรรมอบรมครู พัฒนาสื่อการเรียนการสอน และทำกิจกรรมสู่กลุ่มครอบครัว ซึ่งในปีการศึกษา 2560 มีโรงเรียนผ่านการประเมินเพื่อเข้ารับตราพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาจำนวน 3,967 โรงเรียน และในปีการศึกษา 2561 ที่ผ่านมาคาดว่าจะมีโรงเรียนที่ผ่านการประเมินถึง 6,000 โรงเรียน
กิจกรรม "เทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย" จัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง เพื่อสร้างสีสันและความตื่นเต้นให้กับเด็ก ๆ โดยจะเปลี่ยนหัวข้อทุกปี ปีนี้จัดขึ้นในหัวข้อ "เพราะทุกสิ่งไม่หยุดนิ่ง" ซึ่งคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับคุณครูที่จะชวนเด็ก ๆ ให้ได้เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับ 'การเคลื่อนไหว' ของร่างกายตนเองและค่อย ๆ เปิดโลกกว้างไปสู่การเคลื่อนไหวและการเคลื่อนที่ของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ ยานพาหนะ จนไปถึงการเคลื่อนที่ของข้อมูลดิจิทัลหรือการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ ซึ่งการทำกิจกรรมที่เริ่มจากสิ่งใกล้ตัวเด็กอย่างนี้เป็นการเรียนรู้ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการเรียนรู้ปฐมวัย
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพการจัดงานในส่วนของภาคกลางว่า อพวช. มีภารกิจหลักในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ให้กับสังคม ดังนั้น การวางรากฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็กตั้งแต่วัยเยาว์จึงมีความสำคัญยิ่งในการปลูกฝังเด็กให้เติบโตไปพร้อมกับวิทยาศาสตร์ โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย จึงถือว่าเป็นเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็ก รู้จัก เข้าใจ และสามารถนำประโยชน์จากการเรียนรู้นี้ไปดำเนินชีวิตต่อไปในสังคมได้
สำหรับ "เทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย ประจำปี 2562" ภายใต้หัวข้อ "เพราะทุกสิ่งไม่หยุดนิ่ง" ในส่วนของภาคกลางจัดขึ้นที่ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 อาคารจัตุรัสจามจุรี สามย่าน กรุงเทพฯ โดยแบ่งฐานกิจกรรมออกเป็น 4 ฐานประกอบด้วย ฐานที่ 1. ลูกเต๋าชี้ชะตา : กิจกรรมนี้เด็ก ๆ จะต้องทอยลูกเต๋า แล้วนำจำนวนที่ได้มากำหนดอวัยวะในร่างกายตนเองที่จะต้องสัมผัสพื้น โดยต้องทรงตัวในท่านั้น และสังเกตถึงปัจจัยที่มีผลต่อการโอนเอน ฐานที่ 2.ความรู้สึกยามเท้าเปลือย : กิจกรรมการสำรวจพื้นผิวที่แตกต่างกัน โดยเด็ก ๆ จะได้เดินสำรวจเส้นทางด้วยเท้าเปล่า เด็กๆ ชอบพื้นผิวแบบใดมากกว่ากัน หรือพื้นผิวแบบใดที่ให้ความรู้สึกเย็นกว่า แข็งกว่า ขรุขระกว่า หรือเรียบกว่ากัน เพื่อให้เข้าใจถึงความรู้สึกซึ่งแผ่ขึ้นมาผ่านฝ่าเท้า ฐานที่ 3.ใช้ชีวิตอย่างมีขีดจำกัด : โดยใช้แกนกระดาษใส่ไว้ตรงบริเวณข้อแขนและข้อขา จากนั้นให้เด็กๆ ทดลองทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เดินตามเส้นทางที่กำหนด แล้วสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นถ้าเราต้องเคลื่อนไหวแบบจำกัด ฐานที่ 4.รูปภาพที่เคลื่อนไหว : คุณครูจะเตรียมรูปภาพที่แสดงการเคลื่อนไหวหลายแบบ และชวนเด็กๆ จินตนาการถึงการเคลื่อนไหวในแบบต่าง ๆ แล้วทดลองโดยนำภาพมาเรียงต่อกัน เป็นภาพยนตร์มือถือ
นอกจากนี้ อพวช. ยังได้นำความรู้จากคู่มือมาต่อยอดผลิตเป็นรายการทีวี "บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย" นำเสนอรูปแบบแอนิเมชั่นผสมการทดลองวิทยาศาสตร์ เพื่อปลูกฝังการเรียนรู้อย่างสนุก สร้างสรรค์ ให้เด็กและเยาวชน จนได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากการประกวด Japan Prize 2015 ในสาขา Pre-school รายการ "บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย" ออกอากาศทุกวันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 06.50 - 07.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยเริ่มตอนแรกในวันที่ 3 กรกฏาคม 2554 จนถึงปัจจุบัน
นางสาว คลาวเดีย เอบาค (Ms.Claudia Ebach) ผู้แทนเอกอัครราชฑูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย กล่าวว่า "ทุกวันนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน ทุกชั่วโมง การสร้างเด็กให้สามารถคิดเป็นแก้ไขปัญหาได้เท่าทันต่อสิ่งรอบตัวเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทรงพลังในการสร้างทักษะเหล่านี้ การที่โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยได้นำแนวคิดจากประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและนวัตกรรม แล้วนำมาปรับใช้ในประเทศไทย ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างคนทั้งการสร้างครูและสร้างเยาวชนให้รู้จักการเรียนรู้"
"เทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย ประจำปี 2562" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2562 โดยจัดให้มีพิธีเปิดเทศกาลฯ ทั้ง 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง วันที่ 25 มิถุนายน 2562 จัดโดย อพวช. ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 อาคารจัตุรัสจามจุรี สามย่าน กรุงเทพฯ ภาคเหนือ จัดโดย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) น่าน เขต 2 อำเภอปัว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อุดร เขต 1 และภาคใต้ จัดโดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา ขอเชิญชวนโรงเรียนอนุบาล และศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ มาเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวฯ สำหรับผู้สนใจสามารถดูรายละเอียด และดาวน์โหลดเนื้อหา คู่มือการจัดกิจกรรมได้ในเว็บไซต์ www.littlescientistshouse.com ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2562