กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจงรายละเอียดข้อมูลต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งการคิดคำนวณต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรของ สศก. จะประกอบด้วย ต้นทุนที่เป็นเงินสด คือ ต้นทุนที่เกษตรกรจ่ายด้วยเงินสด ได้แก่ ค่าพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายาและสารเคมี ค่าจ้างแรงงาน และค่าน้ำมัน และต้นุทนที่ไม่เป็นเงินสด คือ ต้นทุนที่เกษตรกรไม่ได้ใช้เงินจ่าย เช่น แรงงานในครัวเรือน ปุ๋ยคอกในฟาร์ม ค่าใช้ที่ดินของตนเอง ค่าเสียโอกาสและค่าเสื่อมอุปกรณ์การเกษตร ซึ่งเมื่อนำต้นทุนทั้ง 2 ประเภทมารวมกัน จะเรียกว่า ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ โดยทุกครั้งที่มีการเผยแพร่ข้อมูลต้นทุนในเอกสารต่างๆ จะมีการระบุหมายเหตุให้ผู้ใช้ข้อมูลทราบว่า เป็นต้นทุนเงินสด หรือเป็นต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ ไว้ด้วยทุกครั้ง
สำหรับการคิดคำนวณต้นทุนแบบเงินสด จะทำให้ทราบว่าค่าใช้จ่ายในช่วงระยะเวลาการผลิตที่เกษตรกรจ่ายในรูปแบบเงินสดเป็นเท่าใด และสามารถนำมาใช้วางนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรได้อย่างถูกต้องและตรงประเด็น อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายเงินสดบางอย่างอาจจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ค่าจ้างแรงงาน ซึ่ง สศก. จะคิดแบบค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ยกตัวอย่างกรณีการคำนวณต้นทุนยางพาราแผ่นดิบคุณภาพ 3 ที่เป็นต้นทุนเงินสด ปี 2562 อยู่ที่ 31.59 บาท/กิโลกรัม และหากคำนวณแบบต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ จะพบว่า ต้นทุนเฉลี่ยทั้งประเทศจะอยู่ที่ 55.01 บาท/กิโลกรัม
ทั้งนี้ สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลด้านต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรชนิดต่างๆ สามารถสอบถามรายละเอียดที่ได้ส่วนปฏิบัติการข้อมูลการเกษตร ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 0 2561 2870 หรือ อีเมล prcai@oae.go.th