กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--คณะกรรมการการอาชีวศึกษา
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ตามที่วิทยาลัยเกษตรและโภชนาการโคอิบูชิ (Koibuchi College of Agriculture and Nutrition) ประเทศญี่ปุ่น ได้เชิญผู้บริหารจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอน และร่วมหารือกับ Mr.Shimasaki Hiroyuki ผู้อำนวยการ และคณะ ในเรื่องการทำความร่วมมือเพื่อจัดการเรียนการสอนสาขาเกษตรระหว่างประเทศ ระหว่าง สอศ.กับ วิทยาลัยเกษตรและโภชนาการโคอิบูชิ (Koibuchi College of Agriculture and Nutrition)และ บริษัท อิเซะ ฟู๊ด (ISE Foods, Inc.) ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงหารือการจัดการหลักสูตรให้มีความสอดคล้องกัน และการส่งนักศึกษาอาชีวะเกษตรเข้าเรียน พร้อมหาแนวทางให้นักศึกษาได้รับทุนการศึกษา โดยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาเกษตร ทั้งนี้มีนางเจิดฤดี ชินเวโรจน์ ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุรนารี ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมหารือ ณ วิทยาลัยเกษตรและโภชนาการโคอิบูชิ ประเทศญี่ปุ่น
เลขาธิการ กล่าวต่อว่า สถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรมีการนำร่องในการนำนักศึกษาเข้าเรียน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในปีการศึกษา 2560 จำนวน 25 คน จากสถานศึกษา 10 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกำแพงเพชร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตาก วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบูรณ์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลพบุรี และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม ซึ่งนักศึกษาได้เข้ารับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ สาขาปศุสัตว์ ใน บริษัท อิเซะ ฟู้ด (ISE Foods, Inc.) ประเทศญี่ปุ่นด้วย (เป็นสถานประกอบการผลิตไข่ไก่ขนาดใหญ่) ทั้งนี้ สอศ.ได้หารือถึงความร่วมมือในอนาคตเพื่อให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรทั่วประเทศ ได้มีโอกาสให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ในการเรียน มีทักษะเฉพาะทาง รวมถึงได้รับความรู้ด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ พร้อมจะเป็นเกษตรก้าวหน้า (Smart Farming) ซึ่งการจัดการเรียนการสอนในครั้งนี้ จะได้รับวุฒิการศึกษาของวิทยาลัยเกษตรและโภชนาการโคอิบูชิ ประเทศญี่ปุ่น และของสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรในประเทศไทย หรือเรียกว่าการจัดการศึกษาในระบบทวิวุฒิ
นอกจากนี้ได้หารือถึงการจัดการเรียนให้นักเรียนที่อยู่ชายขอบ นักเรียนขยายโอกาส หรือนักเรียนพักนอน ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะตนเอง ให้เกิดความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเริ่มตั้งแต่เยาว์วัย จนสามารถนำความรู้ความสามารถไปประกอบอาชีพเพื่อพัฒนาตนเองและบ้านเกิดได้ ให้เป็นไปตามนโยบาย"สะพานเชื่อมโยง สอศ. และ สพฐ." เพื่อพัฒนานักเรียนร่วมกัน เลขาธิการ กล่าวปิดท้าย