กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก ในช่วงวันที่ 26 – 27 มิถุนายน 2562 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย จัดชุดเคลื่อนที่เร็วและเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง ตรวจสอบและปรับปรุงสิ่งปลูกสร้าง ป้ายโฆษณาในพื้นที่สาธารณะ และต้นไม้ริมข้างทางให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง กรณีสถานการณ์รุนแรงให้ดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยมีผลกระทบในหลายพื้นที่ ดังนี้ วันที่ 26 มิถุนายน 2562 ภาคเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน ตาก และกำแพงเพชร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม ภาคกลาง ได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี นครปฐม และสุพรรณบุรี ภาคตะวันออก ได้แก่ นครนายก จันทบุรี และตราด ภาคใต้ ได้แก่ ระนอง พังงา และภูเก็ต วันที่ 27 มิถุนายน 2562 ภาคเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ และนครราชสีมา ภาคกลาง ได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี นครปฐม และสุพรรณบุรี ภาคตะวันออก ได้แก่ นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ ได้แก่ ระนอง และพังงา ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่มิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ และ เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย อีกทั้งประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตัดแต่งกิ่งไม้และต้นไม้บริเวณริมถนนและพื้นที่ชุมชนให้อยู่ในสภาพปลอดภัย เพื่อป้องกันการล้มทับ ก่อให้เกิดอันตรายได้ กรณีสถานการณ์รุนแรงได้เน้นย้ำให้ดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศ และประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด รวมถึงตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง งดเว้นการใช้โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสารทุกชนิดบริเวณที่โล่งแจ้งขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง เพื่อป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ชาวเรือให้เดินเรือด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2562 ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย อีกทั้งห้ามหลบพายุบริเวณใต้ต้นไม้ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกล้มทับ ตลอดจนห้ามเข้าใกล้บริเวณที่มีสายไฟฟ้าขาดหรือเสาไฟฟ้าล้ม เพราะอาจได้รับอันตรายจากไฟฟ้าดูด ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป