กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
รพ.จิตเวชโคราช พบผู้เสพสารเสพติดในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง มีอาการทางจิต เช่นประสาทหลอน หวาดระแวง ก้าวร้าว ต้องเข้ารักษาในปีนี้เกือบ 1 แสนคน คน ยอดเพิ่มจากปี 2560 เกือบ 2 เท่าตัว ชี้เป็นสัญญาณเตือนในด้านระบบประสาท หากยังเสพต่อเนื่องจะกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวช ต้องรักษาตลอดชีวิต ย้ำเตือนผู้ที่มีปัญหาเครียดทุกข์ใจ อย่าพึ่งการใช้สารเสพติด แม้เสพเพียงครั้งเดียว ปริมาณไม่มาก อาจนำสู่อาการทางจิตได้
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้สถานการณ์ของผู้ป่วยโรคจิตเวช มีสาเหตุมาจากการใช้สารเสพติดต่างๆ รวมทั้งจากยาลดความอ้วน การออกฤทธิ์มีทั้งกด กระตุ้น หลอนประสาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สารเสพติดที่พบมากอันดับ 1 คือยาบ้า รองลงมาคือเหล้า สาเหตุที่ใช้มีทั้งอยากลอง อยากรู้ เพื่อความสนุก หรือใช้ให้ลืมความทุกข์ใจ เศร้าใจ เพราะเข้าใจว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ โดยเริ่มจากลองใช้ก่อนเมื่อเห็นผลในเชิงบวกว่าช่วยคลายความทุกข์ใจได้ จึงเพิ่มทั้งปริมาณและความถี่ในการใช้ จนทำให้ติดยา หยุดไม่ได้ เรียกว่าสมองติดยา ซึ่งต้องเสพยาเสพติดมากขึ้นและต่อเนื่อง ผลของการใช้สารเสพติด จะไปทำลายระบบประสาทในสมองที่เป็นศูนย์บัญชาการของร่างกาย ทั้งการเรียนรู้ การคิด การมีเหตุมีผล การยับชั่งใจต่างๆ ทำให้การทำงานผิดปกติ และเกิดอาการทางจิตได้ ที่ผ่านมาพบว่าผู้ที่ติดเหล้าร้อยละ37 จะมีอาการทางจิตร่วมด้วย ส่วนผู้ที่ติดยาบ้าตลอดช่วงชีวิตจะพบโรคทางจิตร่วมด้วยสูงถึงร้อยละ50
"จากการติดตามรายงานการให้บริการผู้ป่วยหรือผู้มีปัญหาสุขภาพจิตในเขตสุขภาพที่ 9 ของกระทรวงสาธารณสุข (Health Data Center)ประกอบด้วย 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ ในปีงบประมาณ 2562 ข้อมูลจนถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2562 พบผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตเข้าใช้บริการประเภทผู้ป่วยนอกรวม 375,805 คน ที่พบมากอันดับ 1 คือมีความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตจำนวน 96,000 คน เฉลี่ยเข้าออกโรงพยาบาล 1.11 ครั้งต่อคน โดยจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2560 เกือบ 2 เท่าตัว สารเสพติดที่แพร่ระบาดในเขตฯนี้ที่พบบ่อยคือยาบ้า กัญชา สารระเหย ไอซ์ ผู้เสพส่วนใหญ่อายุ 18-24 ปี พบมากในผู้ว่างงาน ใช้แรงงาน กลุ่มนักเรียนนักศึกษา " นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อว่า ความปกติทางจิตและพฤติกรรมที่กล่าวมา เป็นสัญญาณเตือนอันตรายความรุนแรงของปัญหาการใช้สารเสพติดที่มีผลต่อการทำงานของสมองผู้เสพ ยังไม่ถึงขั้นป่วยทางจิต จึงขอให้ผู้ที่เสพยาเสพติดหรือใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทอื่นๆ ขอให้เปิดใจยอมรับว่าตัวเองเสพติดยา และรีบเข้ารับการบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพพร้อมกับเลิกเสพยาเสพติดให้ได้ จะมีโอกาสหายเป็นปกติ แต่หากไม่รักษาหรือรักษาแต่ยังไม่เลิกเสพ อาการก็จะรุนแรงเพิ่มขึ้นและมีโอกาสป่วยทางจิตได้ถาวร และอาการจะเรื้อรัง การรักษาฟื้นฟูจะยากขึ้น การที่จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมก่อนเสพยาก็จะยากขึ้น และขอย้ำเตือนผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่นเครียด ทุกข์ใจ เสียใจจากเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ที่มากระทบชีวิต อย่าพึ่งยาเสพติดในการแก้ปัญหา แม้ใช้เพียงครั้งเดียวก็ทำให้ติดได้ ขอให้แก้ปัญหาโดยปรึกษากับผู้ที่ไว้วางใจ คนในครอบครัว หากยังไม่ดีขึ้น ให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สถานบริการใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับลักษณะของผู้เสพสารเสพติดที่มีอาการทางจิต ญาติผู้ใกล้ชิดสามารถดูได้จากความผิดปกติของผู้เสพทั้งพฤติกรรม อารมณ์ ความคิด 5 ประการ ประกอบด้วย 1. ประสาทหลอน เช่นเห็นภาพหลอน มองเห็นสีหรือรูปร่าง ได้ยินเสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน ได้กลิ่นที่คนอื่นไม่รู้สึก 2. หลงผิด มีความคิดหรือเชื่อเป็นตุเป็นตะว่าตัวเองกำลังถูกคนปองร้าย หรือวางแผนทำร้าย คิดว่าตัวเองมีพลังอำนาจวิเศษลึกลับเหนือมนุษย์ 3. ความคิดสับสน วุ่นวาย เช่นพูดเร็วฟังแล้วไม่เข้าใจ พูดจาออกมาทันที หรือพูดในเรื่องราวที่ไม่ต่อเนื่องกัน 4. อาจมีพฤติกรรมอื่นๆ ผิดปกติไป เช่นซึมเศร้า เก็บตัว ขี้สงสัย มีความคิดอยากฆ่าตัวตายและ 5. มีพฤติกรรมซ้ำๆ เช่น ปิดเปิดโทรทัศน์ แกะรื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ที่ไม่ได้เสียและประกอบเข้าที่เดิม เสมือนว่าเป็นช่าง หากพบอาการที่กล่าวมาอาการใดอาการหนึ่ง ขอให้รีบปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และพาไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน โดยอาการทางจิตนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งผู้ที่เสพมานานและเสพครั้งแรกหรือเสพในปริมาณไม่มากก็ตาม นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว