กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์
บล.เอเซีย พลัส ในกลุ่มบริษัทเอเซีย พลัส มองแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 3/62 จะแกว่งตัวผันผวนในทิศทางขาขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากกระแสของ Fund Flow ที่ยังไหลเข้าต่อเนื่อง ขณะที่การพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ล่าช้า อาจกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ เป็นปัจจัยถ่วงตลาด
"โดยภาพรวมแล้ว เรามองตลาดเป็น Sideway up เนื่องจาก Fund Flow ยังคงไหลเข้าอยู่ แต่ภายในประเทศของเราเอง การเมืองเรื่องของความมีเสถียรภาพ และการพิจารณางบประมาณรายจ่ายที่ล่าช้า จะเป็นตัวแปรที่ให้ตลาดผันผวน" คุณเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าว
คุณเทิดศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ แม้จะเป็นรัฐบาลที่มีคะแนนเสียงสนับสนุนไม่เด็ดขาด อาจมีประเด็นเรี่องเสถียรภาพในการบริหารงาน แต่ก็ถือเป็นพัฒนาการเชิงบวกทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในไตรมาส 3 นี้ คือการพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2563 ซึ่งน่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏรในเดือน ก.ย. 62
ถือว่าล่าช้ากว่าทุกปีที่ผ่านมาราว 3 เดือน ซึ่งการพิจารณาที่ล่าช้า อาจมีผลต่อเนื่องไปถึงการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจไทยต้องการแรงกระตุ้นจากภาคเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก หลังจากภาคการค้าระหว่างประเทศมีปัญหา อันเป็นผลมาจากสงครามการค้าโลก
โดย IMF คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 62-63 รอบล่าสุดเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ขยายตัว 3.3% และ 3.6% ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าที่ IMF เคยคาดการณ์ไว้เดิม จากผลกระทบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยืดเยื้อ โดยประเด็นที่ต้องติดตามคือการเจรจาของผู้นำทั้ง 2 ประเทศ ว่าจะสามารถหาข้อยุติได้หรือไม่ ในการพบปะกันในการประชุม G20 วันที่ 28-29 มิ.ย. 62 นี้ ที่ญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ยังเห็นภาพการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับคู่ค้าอีกในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP กับตุรกีและอินเดีย ทำให้ภาพรวมของสงครามการค้ายืดเยื้อและกระทบความต้องการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงก่อนหน้านี้ ช่วยลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อทั่วโลก ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งหันกลับมาใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายอีกครั้ง เริ่มตั้งแต่สหรัฐฯ และยุโรป ที่ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยชัดเจนในปีนี้ ขณะที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ลดดอกเบี้ยไปแล้ว 1 ครั้ง ส่วนอินเดียลดไปแล้ว 3 ครั้ง เป็นต้น
คุณเทิดศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับไทยนั้น สายงานวิจัยฯ คาดว่า ดอกเบี้ยทรงตัวหรืออาจปรับลงจากปัจจุบันที่1.75% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก คือส่งออกชะลอตัว ทำให้การขับเคลื่อนมาจากภายในประเทศ คือภาคการบริโภคครัวเรือน ที่จะยังได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ โดยสายงานวิจัยฯ คาดการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 62 ที่ 2.7% ชะลอจาก 4.1% ในปี 61
ส่วนกำไรตลาดในปี 62 นี้ สายงานวิจัยฯ มองแนวโน้มช่วงที่เหลือของปีนี้ จากสถานการณ์สงครามการค้ารุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาด เริ่มเห็น Downside ของประมาณการ จึงได้ปรับลดสมมติฐานกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ประมาณการกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน ปี 62 ลดลงจากเดิม 2.25% มาอยู่ที่ 1.03 ล้านล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น (EPS) ที่ 103.32 บาท เติบโต 5.59% จากปีก่อน
เมื่ออิงกำไรใหม่ ดัชนีเป้าหมายจะอยู่ที่ 1699 จุด บนสมมุติฐาน Market Earning Yield Gap 4.28% อย่างไรก็ตาม นับจากช่วงปลายเดือน พ.ค. 62 ที่ผ่านมา พบว่ามีแรงหนุนจาก Fund Flow ไหลเข้ามาต่อเนื่อง ผลจากการเมืองในประเทศที่เปลี่ยนผ่านมาสู่การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การเพิ่ม NVDR เข้ามาคำนวณในดัชนี MSCI รวมไปถึงหลายธนาคารกลางหันมาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มมีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน จากพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทนต่ำไปสู่พันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
ในทางกลับกันช่วยหนุนให้ Earning Yield Gap ของตลาดหุ้นไทยกว้างขึ้น ล่าสุดมาอยู่ที่ 4.08% ลักษณะเช่นนี้ถือเป็นสัญญาณเชิงบวก หนุนให้ Fund Flow มีโอกาสถูกโอนถ่ายจากตลาดตราสารหนี้ มายังตลาดหุ้นในระยะถัดไปได้มากขึ้น
ทั้งหมดนี้ได้หนุนให้เกิดการปรับฐาน PER ให้สูงขึ้นกว่าเป้าหมายเดิมที่ 16.45 เท่า โดยในระยะสั้นอาจขยับขึ้นไปเหนือ PER ที่ราว 17 เท่าได้ กลยุทธ์การลงทุนจึงเน้นหุ้นที่มีความได้เปรียบทางด้าน Valuation เมื่อเทียบกับตลาด ดังนี้
- หุ้นที่กำไรเติบโต มีคุณภาพ BBL, BDMS, ROBINS, THANI, GPSC, RJH
- หุ้นได้ประโยชน์จากนโยบายภาครัฐ CK
- หุ้นที่มีเงินปันผลสม่ำเสมอ ภายใต้ดอกเบี้ยขาลง EASTW, SCCC, MCS
- หุ้นอาหารส่งออก ที่ถูกกระทบจำกัดจากสงครามการค้า TU