กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--ฟู้ดแพชชั่น
เป็นที่น่าชื่นชมกับข่าวการประกาศงดใช้ถุงพลาสติกของบรรดาห้างค้าปลีกต่างๆ ในไทย ไม่ว่าจะเป็น ห้างเซ็นทรัล, เทสโก้โลตัส หรือแม้แต่ เซเว่น อีเลฟเว่น ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ ทว่า สิ่งนี้เราเห็นความเคลื่อนไหวมาสักพักใหญ่แล้วจากแบรนด์และคอร์ปอเรทระดับโลกมากมาย เรียกได้ว่าการดำเนินนโยบายธุรกิจสีเขียว (Green Business) กลายเป็น "เมกะเทรนด์" ของโลกไปแล้ว
ปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาขยะพลาสติกล้นโลกกำลังสร้างความสั่นสะเทือนไปทั่ว นั่นเพราะเราทุกคนตระหนักดีกว่าชีวิตไม่อาจดำรงอยูได้หากปราศจากสภาพแวดล้อมที่ดีสะอาดและสมบูรณ์ ผู้คนจึงหันมาใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และด้วยความสนใจนี้เองทำให้บริษัทต่างๆ ต้องให้ความใส่ใจกับการดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วยเช่นกัน บริษัทต่างๆ ต้องปรับตัวตามความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับนโยบายสีเขียวขององค์กร นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมหลายๆ แบรนด์ทั่วโลกจึงหันมาสู่การสร้าง 'กลยุทธ์กรีน' กันมากขึ้น เราลองมาดูสิว่ามีแบรนด์ไหนกันบ้างที่บิ๊กมูฟในเรื่องนี้
อาดิดาส (adidas)
(อาดิดาส รุ่น FUTURECRAFT.LOOP ภาพจาก news.adidas.com)
อาดิดาส ผู้นำเทรนด์สปอร์ตแฟชั่นระดับโลก ที่สร้างความฮือฮาในวงการแฟชั่นและกลุ่มอนุรักษ์ด้วยการเปิดตัวโปรเจ็คต์ Adidas X Parley Ocean Plastic ออกมาเป็นรองเท้า UltraBOOSt Uncaged Parley สนีกเกอร์ที่วัสดุทำจากการรีไซเคิลขวดพลาสติกชายฝั่งทะเล ซึ่งมีเพียง 7,000 คู่เท่านั้น ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภค อาดิดาส จึงประกาศอย่างยิ่งใหญ่ว่า บริษัทจะเปลี่ยนมาใช้พลาสติกรีไซเคิลทั้งหมดภายในปี 2567 นอกจากนี้ จะหยุดการใช้พลาสติกผลิตใหม่ในสำนักงาน เอาท์เล็ท โกดังสินค้า และศูนย์กระจายสินค้า ซึ่งจะช่วยลดปริมาณพลาสติกลงได้ถึง 40 ตันต่อปี ซึ่งจะเริ่มดำเนินการไปแล้วตั้งแต่ปี 2561
และเมื่อเร็วๆ นี้ ยังมีการเปิดตัวรองเท้ารุ่น FUTURECRAFT.LOOP ที่ถูกนิยามว่าเป็น รองเท้าวิ่งที่สามารถรีไซเคิลได้สมบูรณ์ 100% การผลิตรองเท้ารุ่นนี้มีกระบวนการการออกแบบโดยใช้เส้นด้ายและเส้นใยที่มาจากขยะพลาสติกที่เก็บได้จากท้องทะเล ที่สำคัญคือ รองเท้ารุ่นนี้เมื่อใช้งานไปแล้วเกิดการผุพังก็สามารถส่งกลับมาที่โรงงานแล้วทำการรียูส รีไซเคิล เพื่อผลิตเป็นรองเท้าคู่ใหม่ได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้น สิ่งที่ adidas ทำคือการไม่สร้างขยะเพิ่มขึ้นอีก เป็นบทพิสูจน์ว่า adidas สามารถผลิตรองเท้าวิ่งที่มีประสิทธิภาพได้โดยที่สร้างจากขยะแต่ไม่ทำให้กลายเป็นขยะให้กับโลกเลย
สตาร์บัคส์ (Starbucks)
(starbucks reusable cup ภาพจาก www.starbucks.com.sg )
ปริมาณการใช้แก้วกระดาษและแก้วพลาสติกแบบ Single Use หรือใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง มีจำนวนการใช้งานทั่วโลกมากกว่า 6 แสนล้านใบต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้เป็นแก้วที่มาจาก "สตาร์บัคส์" อยู่ราว 1% ดังนั้น เพื่อแสดงว่าเป็นแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ สตาร์บัคส์จึงตัดสินใจใช้แก้ว Reusable Cup ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยได้รับการตอบรับอย่างดี ทำยอดจำหน่ายได้มากกว่า 25 ล้านใบทั่วโลก นอกจากนี้ ล่าสุด ยังประกาศเป้าหมายยกเลิกการใช้หลอดพลาสติกในร้านสตาร์บัคส์กว่า 30,000 สาขาทั่วโลกในปีหน้า รวมทั้งจะใช้ฝาครอบแก้วที่มีช่องเล็กๆ ซึ่งทำจากพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งผู้บริโภคสามารถยกดื่มได้เลยโดยไม่ต้องใช้หลอด รวมทั้งจะมีการนำหลอดกระดาษหรือหลอดพลาสติกที่ย่อยสลายได้มาใช้แทนด้วย
สำหรับเมืองไทยนั้น เมื่อวันคุ้มครองโลก 22 เมษายนที่ผ่านมา สตาร์บัคส์ไทยก็ร่วมรณรงค์ให้คนหันมาพกแก้วส่วนตัวเพื่อลดปริมาณขยะ พร้อมกับวางจำหน่ายแก้ว Reusable Cup ทุกสาขาทั่วไทย โดยเป็นคอลเลคชั่นพิเศษที่ผลิตจากพอลิโพรไพลีนวัสดุที่ทำให้แข็งแรงกว่าแก้วกระดาษทั่วไป
ซัมซุง (Samsung)
(ภาพจาก news.samsung.com)
ซัมซุง อิเล็คโทรนิคส์ ประกาศเดินหน้านโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปีนี้ (2019) โดยหันมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กระดาษ หรือวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ในการผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์แทนการใช้พลาสติก ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 นี้ ซัมซุงจะเริ่มใช้วัสดุดังกล่าวในการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าและอุปกรณ์เสริมต่างๆ ตั้งแต่ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ไปจนถึงกล่องบรรจุภัณฑ์อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน
สำหรับกล่องบรรจุภัณฑ์สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และอุปกรณ์สวมใส่ ซัมซุงจะแทนที่บล็อกถาดพลาสติกที่รองรับตัวเครื่องด้วยผลิตภัณฑ์เยื่อกระดาษขึ้นรูป และเปลี่ยนพลาสติกอื่นๆ ที่ห่ออุปกรณ์ในกล่องเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งปรับดีไซน์สายและแท่นชาร์จจากเดิมที่ด้านนอกเป็นพลาสติกแบบเคลือบเงา ให้เป็นดีไซน์เนื้อผิวด้าน พร้อมยกเลิกการใช้ฟิล์มติดรอบตัวเครื่องเพื่อลดการใช้จำนวนพลาสติก ส่วนถุงพลาสติกขนาดใหญ่ที่ใช้บรรจุอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น ทีวี ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัว จะถูกแทนที่ด้วยวัสดุจากขยะพลาสติกรีไซเคิล และพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ซึ่งผลิตขึ้นจากวัสดุจากธรรมชาติ ปราศจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างแป้งและอ้อย สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ
นอกจากนี้ ซัมซุง ยังวางแผนที่จะนำกระดาษที่ผ่านการรับรองจากองค์การด้านป่าไม้ มาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ภายในปี 2020 และตั้งเป้าที่จะนำพลาสติกกว่า 500,000 ตัน รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ถูกทิ้งเป็นขยะกว่า 7.5 ล้านตัน ตั้งแต่ปี 2009 มารีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ให้ได้ภายในปี 2030
อิเกีย (IKEA)
(บานตู้ครัว คุงส์บัคก้า ภาพจาก www.ikea.com/th)
อีกหนึ่งแบรนด์ระดับโลกที่เห็นความสำคัญของการรีไซเคิลและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ โดยมีการนำขวดพลาสติกน้ำดื่ม หรือที่เรียกว่าขวด PET นำมาทำเป็นบานตู้ครัว ทั้งนี้ อีเกีย พบว่าในหนึ่งปีทั่วโลกมีการใช้ขวดพลาสติก PET กว่าหนึ่งแสนล้านขวดทั่วโลก แต่มีเพียงหนึ่งในสามเท่านั้นที่ขวดเหล่านั้นถูกนำมารีไซเคิล ทว่าที่เหลือกลายเป็นขยะ ไม่ก็ถูกทิ้งลงทะเลหรือนำไปฝังกลบ ซึ่งแน่นอนว่ามันย่อยสลายยากและจะกลายเป็นมลพิษในอนาคต ดังนั้น อิเกียจึงมีแนวคิดที่จะนำขวดพลาสติกกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จนในที่สุดก็ได้ออกมาเป็น KUNGSBACKA/คุงส์บัคก้า ซึ่งเป็นบานตู้ครัวที่นำเอาขวด PET กลับมาใช้ใหม่ทั้งยังมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้นอีกด้วย มากไปกว่าการเป็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิล แต่มันยังสวยงามและทนทานมากอีกด้วย
และนอกเหนือจากการนำขวดพลาสติกไปทำเป็นบานตู้ครัวแล้ว อิเกีย ยังนำพลาสติกจากขวด PET ไปใส่เป็นไส้ในของผ้านวม GLANSVICE (กลันส์วีเด) หนึ่งในผ้านวมที่ขายดีในยุโรปอีกด้วย นอกจากนี้ วัสดุตกแต่งบ้านรวมถึงบรรจุภัณฑ์ของ อิเกีย หลายชนิดผลิตจากวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือเป็นวัสดุที่ผ่านการรีรีไซเคิลแล้วกว่า 98% เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ระดับโลกที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากทีเดียว
ฌานา (Charna)
ขอกล่าวถึงบริษัทในไทยกันบ้าง นอกเหนือจากห้างค้าปลีกแล้วก็มีอีกหลายบริษัทในไทยที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม ดังเช่น "ฌานา" หนึ่งในร้านอาหารไทยที่ผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มแข็ง "ฌานา" ร้านอาหารเพื่อสุขภาพในเครือ บริษัท ฟู้ด แพชชั่น จำกัด หนึ่งในร้านอาหารพี่น้องกับบาร์บีคิวพลาซ่า ตั้งขึ้นบนแนวคิด Full Flavor Healthy Meal คือร้านอาหารที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรักสุขภาพที่ต้องการความอร่อยแบบครบรสชาติในทุกๆ มื้ออาหาร
แต่ที่สำคัญ "ฌานา" ยังมีแนวคิดที่จะชวนทุกคนมาร่วมกันดูแลโลกทะนุถนอมโลกให้สามรถส่งต่อสู่คนรุ่นต่อไปได้ โดยมองว่าทุกวันนี้เราอาจจะสร้างขยะโดยที่ไม่รู้ตัว เพิ่มมลพิษให้กับโลกในปริมาณมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก กล่องโฟม หรือขวดน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกมากมาย ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราจะทำเพื่อโลกใบนี้กันบ้าง ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวันแบบง่ายๆ โดยการลดละการใช้โฟมหรือถุงพลาสติก แล้วหันมาใช้ภาชนะซ้ำในการบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม จนเกิดเป็นที่มาของ แคมเปญ #CharnaChange
และเพื่อกระตุ้นให้คนเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมและลงมือทำจริง ฌานา จึงได้จัดทำชุดบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยในการไม่สร้างขยะหรือมลพิษเพิ่มเติม ได้แก่ "Charna Change Set" ซึ่งประกอบไปด้วย กล่องข้าวสองชั้นทำจากฟางข้าวสาลีบรรจุช้อนส้อมตะเกียบมาให้แบบครบเซ็ท แถมยังนำเข้าไมโครเวฟได้ด้วย และยังมีขวดน้ำ Flip Bottle ที่เปิดได้สองด้านใช้ได้ทั้งแบบขวดและแบบแก้วน้ำ มาพร้อมกับถุงเก็บอุณหภูมิร้อนเย็นใส่ได้ทั้งอาหารและเครื่องดื่ม ท้ายที่สุดเพื่อให้แนวคิดแคมเปญเกิดการผลักดันที่แท้จริง ทางร้านจึงจัดโปรโมชั่นพิเศษให้เกิดการกลับมาใช้ซ้ำ โดยถ้านำกล่องข้าวหรือขวดน้ำมาซื้ออาหารและน้ำที่ร้านก็จะได้ส่วนลดค่าอาหาร 10 บาท ถ้าเป็นน้ำก็จะได้ส่วนลด 5 บาทไปเลย นอกจากนี้ ยังมีโปรโมชันอื่นๆ อีกมากที่สนับสนุนผู้บริโภคที่มีแนวทางการอนุรักษ์เพื่อสร้างโลกที่ยั่งยืนไปด้วยกัน สามารถติดตามได้จาก Facebook Charna Restaurant
อินทนิล (Inthanin)
(ภาพจาก inthanincoffee.com )
ร้านกาแฟอินทนิล หนึ่งในแบรนด์ไทยที่เห็นความสำคัญถึงปัญหาขยะพลาสติกเช่นกัน ได้ชักชวนลูกค้าให้มาร่วมกันลดการใช้พลาสติกให้น้อยลง ออกมาเป็นแคมเปญ "ฝาใหม่ ไม่หลอด" โดยตัดสินใจพัฒนาฝาแบบใหม่ให้เน้นการยกดื่มได้ เริ่มไปตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยลดการใช้หลอดพลาสติกได้กว่า 25 ล้านหลอด ภายในสิ้นปี 2562
นอกจากนี้ ก็จะมีการปรับแก้วร้อนแบบนำกลับมาเป็นแบบแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกที่ย่อยสลายได้ (Bio PBS) เพื่อลดปริมาณพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยเครื่องดื่มทุกแก้วจะเสิร์ฟด้วยไบโอคัพที่ผลิตจากพืชธรรมชาติ 100% สามารถย่อยสลายได้โดยธรรมชาติภายใน 180 วัน พร้อมกับจัดแคมเปญให้ลูกค้านำแก้วมาใช้เองด้วยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดการใช้แก้วพลาสติก ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้า
สุดท้ายการทำธุรกิจในปัจจุบันไม่อาจเพิกเฉยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ หลายบริษัททั่วโลกจึงเริ่มดำเนินนโยบายธุรกิจสีเขียวกันมากขึ้นอย่างที่เราเห็น เพราะการทำธุรกิจจะต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ไม่เห็นแก่ผลกำไรของตนเองมากจนเกินไป เพราะเมื่อสังคมมีความเป็นอยู่ที่ดีผู้บริโภคมีความสุขกับสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว ในที่สุดก็จะกลับมาจับจ่ายบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ สร้างผลกำไรให้กับภาคธุรกิจต่อไป เกิดเป็นโลกที่น่าอยู่และยั่งยืนในอนาคต.